บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ปัญหา “ฝุ่นละออง PM2.5” กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อ 17 มีนาคม 2558 มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการดำเนินการป้องกันและแก้ไข “ปัญหาหมอกควัน” อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ (มติ ครม.เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2558) ซึ่ง ทส.ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ (ศอ.ปกป.ชาติ) และตั้งศูนย์อำนวยการฯ ภาคเหนือ 9 จังหวัด โดยกองทัพภาคที่ 3 เมื่อปลายปี 2560 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ “ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ ตาม “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตั้งแต่ปลายปี 2562 สาเหตุมักมาจากควันท่อไอเสีย ควันบุหรี่ การเผาไหม้สิ่งต่างๆ รวมไปถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานด้วย ส่วนปัญหา “หมอกควันในภาคเหนือ” มีสาเหตุหลักๆ มาจากการเผาในที่โล่ง (พื้นที่เกษตรและในชุมชน) และการเผาป่าทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งภาคเหนือ ค่าฝุ่นฯ ช่วงต้นปีจะขยับสูงขึ้น จนกระทั่งเกินกว่า 300 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร (มคก./ลบ.ม.)
โดยเฉพาะในช่วงต้นปี ประเทศไทยมักจะพบปัญหาฝุ่น PM2.5 ระดับรุนแรงที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ตั้งแต่เดือนมีนาคม ฤดูฝุ่น PM2.5 จึงกลับมาอีกครั้ง ข่าววิกฤติฝุ่นควันพิษ ฝุ่นพิษ หรือฝุ่นจิ๋ว หรือ “ฝุ่นพิษจิ๋ว” หรือ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” หรือ “ฝุ่นพิษขนาดเล็ก” แล้วแต่จะเรียก มาจากคำว่า “PM2.5” (Particles Matters) คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบเท่าขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เล็กมากมองไม่เห็นด้วยตา เล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ ในที่นี้ขอเรียก “ฝุ่นละอองหรือฝุ่นพิษขนาดเล็ก” นี้ว่า “PM2.5”
ปัญหาฝุ่นพิษขนาดเล็ก (PM2.5) มีมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือ 9 จังหวัดภาคเหนือ(ตอนบน) ซึ่งเป็นเขตภูเขา ในช่วงหน้าแล้งจะมีไฟไหม้ป่า เผาป่า เผาไร่ เผาหญ้าแห้ง เผาขยะ การเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และหมอกควันข้ามแดน รวมการเผาในที่โล่งทั้งหมด ฯลฯ เกิดมลพิษทางอากาศมาก เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ส่วนทางภาคใต้ ฝนตกบ่อย เผาไป ผลกระทบจะน้อยกว่าภาคอื่น กทม.สถานการณ์จะหนักมาก เพราะควันพิษจากรถยนต์ เป็นวิกฤติจะหยุดฝุ่นพิษไม่ได้ การแก้ไขเพื่อให้ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การเพิ่มประสิทธิภาพควบคุมมลพิษ PM2.5
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศขยับมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 15% มีผลบังคับใช้ 13 เมษายน 2565 นี้ หวังเพิ่มประสิทธิภาพควบคุมมลพิษ-แก้ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ กทม. สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ตัวอย่างไต้หวัน (1 เมษายน 2565) ได้ประกาศยุติการซื้อขายจักรยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถาวรภายใน ค.ศ.2035 (พ.ศ.2578) เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดสภาวะเรือนกระจกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางภายใต้รัฐบาลในการบูรณาการดำเนินงานการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ชี้แจงถึงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ผ่านมาว่าส่งผลให้สถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองดีขึ้น
ช่วงวิกฤตปี 2565 พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 26 วัน ลดลง 61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 67 วัน และหากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่ามีจำนวน 1 วัน ลดลง 86% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 7 วัน
ต่อไปคนเมืองคงไม่แคล้ว อย่าลืมใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน และเปิดเครื่องฟอกอากาศเมื่ออยู่ในที่พัก เพราะฝุ่นพิษ PM2.5 ยังไม่หายไปไหน ข่าวเมื่อ 12 มีนาคม 2564 กรุงปักกิ่ง มีค่าฝุ่นพิษสูงถึง 300 มคก./ลบ.ม. ในช่วงเวลากลางวันซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก เพราะว่าสถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM2.5 หากทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว
สถานการณ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด
ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ระหว่าง 1 มกราคม - 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 38 วัน ลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 69 วัน และหากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่ามีจำนวน 8 วัน ลดลง 60% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 20 วัน
แต่จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า จำนวนจุดความร้อนในภาพรวมของประเทศไทย ระหว่าง 1 มกราคม - 15 มีนาคม 2565 มีจำนวน 31,082 จุด ลดลง 61% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มี 79,441 จุด ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนจุดความร้อนในประเทศไทย
เมืองเชียงใหม่ หลังถูกขนานนามว่า 'เมืองจมฝุ่น (PM2.5)' มา10 กว่าปีแล้ว
ข้อมูลปี 2562 พบว่า “จังหวัดเชียงใหม่” ครองแชมป์เมืองมลพิษสูงที่สุดในโลกได้อย่างเหนียวแน่น ที่อยู่ในขั้นมหันตภัย รายงานจาก AirVisual พบว่าค่าฝุ่นละอองในจังหวัดเชียงใหม่วัดได้สูงสุดถึง 499 US AQI ในเขตรอยต่อของ อ.สันป่าตอง-อ.สะเมิง ซึ่งเป็นจุดภูเขาสูง ขณะที่ในเมืองก็เฉลี่ยอยู่ที่ 389 US AQI ซึ่งถึงจะน้อยลงมาเล็กน้อย แต่ก็ยังจัดอยู่ในขั้น “มหันตภัย” อยู่ดี และมากกว่าอันดับสองของโลกอย่างเมืองกาฐมาณฑุ ซึ่งวัดได้ 181 US AQI อยู่ถึง 2 เท่า
มีการเริ่มเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะสามารถปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานการดำรงชีวิตของเราให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของตัวเองสักที
ข่าวเมื่อ 18 มีนาคม 2565 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รายงานผลการตรวจรายงานค่ามลพิษ “แม่ฮ่องสอน” พุ่งแตะ 146 มคก./ลบ.ม. สูงสุดในห้วงปีนี้ ชี้เกินมาตรฐานต่อเนื่องแล้ว 20 วัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหนัก พบสาเหตุลอบเผาป่าส่งผลให้ควันพิษปกคลุมเมืองหนาทึบไม่หยุด นี่แม้แต่ในเขตเมืองอย่างเช่นในกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก จากข้อมูลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่าในเขต กทม.มีปริมาณ PM2.5 ระหว่าง 39-74 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินมาตรฐานใน 53 พื้นที่
ค่ามาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่น PM 2.5 ตาม WHO กับแผนจัดการฝุ่นละออง PM2.5 ของไทย
รัฐบาลโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นกรรมการและเลขานุการ อ้างว่า มี “แผนบริหารจัดการ PM2.5” คือ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”(2563) อยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงนั้นเห็นว่า แผนดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากบริบทของปัญหาฝุ่นพิษมีมากมาย แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ชุมชนเมือง ชุมชนชนบท ท้องที่การเกษตร ป่าเขาฯลฯ
ปัญหาสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแก้ปัญหา PM2.5 ล้มเหลวประการสำคัญ คือ “ค่ามาตรฐาน PM2.5W ตามประกาศของ กก.วล. มีตัวเลขสูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ ค่ามาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่น PM 2.5 ให้สูงขึ้น กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากเดิมที่ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. การปรับครั้งนี้ทำให้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทยตามหลังเกณฑ์แนะนำของ WHO หลายเท่าตัว โดยปัจจุบันค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทยเฉลี่ยรายปีคือไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.
สรุปว่าค่าที่ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” (PM2.5 = 51-90 มคก./ลบ.ม.) และหากค่าเกิน 200 “ทุกคน” ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเป็นค่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” (PM2.5 = น้อยกว่า 90 มคก./ลบ.ม.)
จากมาตรฐานที่ต่างจาก WHO กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 24 ชม. ดังกล่าว จึงมีชาวบ้านได้ยื่นฟ้อง “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชาติแห่งชาติ” (กก.วล.) ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องและสั่งให้ กก.วล. ทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลปกครอง แต่ กก.วล. ไม่ทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลตามกำหนดเวลา กก.วล. ได้ขอขยายเวลาทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลถึง 4 ครั้ง เมื่อคราวศาลเรียกไต่สวนคู่ความในคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564 ว่ารัฐบาลมีแผนบริหารจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก “PM2.5” ให้หมดสิ้นไปโดยรัฐอ้างว่า “ไม่จำเป็นประกาศเขตควบคุมมลพิษ” ตามคำขอท้ายฟ้องในคดีดังกล่าว ที่ให้ กก.วล. ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ 4 จังหวัด คือเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน
ซึ่งต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ กก.วล. ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว โดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้รับมอบอำนาจจาก กก.วล.(ผู้อุทธรณ์) ตามมติ กก.วล.ในคราวการประชุมครั้งที่ 3/2557 เมื่อ 17 ธันวาคม 2557 อธิบดี คพ.ได้ยื่นคัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ดังกล่าว ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2564 (10 เมษายน 2564)
เห็นได้ชัดเจนว่า ตามแผนบริหารจัดการ PM2.5 ที่ กก.วล. ได้อ้างต่อศาลปกครองนั้นใช้ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติจริง แน่นอนว่า สองปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่ภาคเหนือได้ลดลงจริง แต่ปริมาณ PM2.5 ไม่ได้ลดลงไปด้วย เพราะแหล่งกำเนิด PM2.5 ไม่ได้มีเฉพาะแหล่งกำเนิดจากไฟไหม้ป่าเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสนใจแต่ไฟไหม้ป่าโดยละเลยแหล่งกำเนิด PM2.5 อื่น ปัจจุบันอยู่ในระหว่าง กก.วล.อุทธรณ์ต่อศาลสูง สรุปสาระสำคัญคำฟ้องคดีก็คือ เพื่อให้ กก.วล. ประกาศมาตรฐาน PM2.5 “ให้มีค่าเฉลี่ย 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” ในระยะเวลา 24 ชม. ตามค่าเฉลี่ยรายปีของไทยคือไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.
มีคำถามว่ามาตรฐาน PM2.5 มีผลต่อการแก้ไข “ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างไร
การแพร่กระจายฝุ่นพิษ PM2.5 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ตัวฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่นๆ ผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ มีอาการอักเสบแฝงในระบบอวัยวะจนเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ทั้งแบบฉับพลันทันทีทันใด และแบบเรื้อรัง โดยผลกระทบตามระยะต่างๆ อาจทำให้เกิดโรคขึ้นใหม่ หรือทำให้โรคเดิมรุนแรงขึ้นทำให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ เสื่อมจนทำให้อวัยวะทำงานเสื่อมเร็วและรุนแรงขึ้นอาจทำให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง มีผลกระทบต่อระบบอวัยวะสำคัญหลักในการดำรงชีวิต ทั้งต่อระบบการหายใจ ระบบหัวใจ ระบบหลอดเลือด ระบบสมอง
จากหลักการแพทย์ระบุว่า มนุษย์เราอยู่ในสภาพอากาศที่มี PM2.5 ปริมาณมากเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 24 ชม. ตามที่ WHO กำหนดจะมีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จึงต้องกำหนดให้มาตรฐาน PM2.5 ให้มีปริมาณในระดับที่ร่างกายรับได้ อันเป็น “ข้อบังคับสำคัญ” ที่รัฐบาลต้องควบคุมไม่ให้ PM2.5 มีปริมาณมากจนเกินกว่ามาตรฐานโลกที่กำหนดไว้
ข้อสังเกตในสาเหตุประการสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้ เพราะแหล่งกำเนิด PM2.5 ส่วนหนึ่งมีคนเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย โดยมีนายทุนผู้เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายทุนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลมาตลอด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่กล้าแก้ปัญหา PM2.5 อย่างจริงจัง โดยเฉพาะแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมและแปลงเกษตรขนาดใหญ่ เช่น ไร่อ้อย แน่นอนว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาทุกรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ปัญหา PM2.5 ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้
ปัจจุบันปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาที่ท้าทายอำนาจรัฐ เพราะมีผลกระทบหลายด้าน มิใช่มีผลกระทบเพียงต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น และประชาชนยังมีความรู้เกี่ยวกับปัญหา PM2.5 น้อยมากหรือไม่รู้เรื่องก็มีมิใช่น้อย ปัญหา PM2.5 สะสมมานานจนประชาชนคุ้นเคยชินแล้ว จึงไม่เห็นถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับปัญหา PM2.5 เพิ่งเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมโลกอย่างจริงจังไม่กี่ปีมานี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อน (Global Warming) จากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) ที่มีผลจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่สนใจแก้ปัญหา PM2.5 เพราะไม่มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา แม้มีนักวิชาการและ NGOs ออกมาเรียกร้องอยู่บ้างแต่คนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยเพียงหยิบมือ จึงไม่มีผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล รัฐบาลจึงเพิกเฉยต่อปัญหา PM2.5 อย่างจริงจังมาโดยตลอด ดังนั้น พื้นที่ชนบทที่มีปริมาณ PM2.5 และมีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก PM2.5 มีผลต่อสุขภาพโดยตรงต่อประชาชนคนยากจน ปัญหา PM2.5 ใหญ่โตเกินกำลังที่คนยากจนจะแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ จึงจำเป็นที่ประชาชนทุกคนต้องไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีภาพปัญหาได้ปรากฏตามสื่อต่างๆ ในทุกช่องทาง ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา PM2.5 อย่างจริงจัง มิใช่ปล่อยให้รัฐบาลแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็นจนชินตาไปทุกวัน โดยที่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมตามที่เห็น
กล่าวโดยสรุป นอกจากรัฐบาลต้องทำให้แผนบริหารจัดการ PM2.5 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหา PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติมีผลทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลต้องประกาศมาตรฐาน PM2.5 ให้มีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 24 ชม. โดยขณะนี้ร่างประกาศดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว