วันที่ 19 เม.ย.65 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
นายขจิต กล่าวว่า ได้เน้นย้ำหน่วยงานต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา หรือมีการจัดกิจกรรมภายในครอบครัว ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.สังเกตอาการตนเองภายใน 7-10 วัน และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด 2.หากพบว่ามีอาการหรือมีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK ทันที หากผลเป็นลบให้พิจารณาตรวจซ้ำ เมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ 3.ในช่วงสังเกตอาการควรหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนโดยไม่จำเป็น หากต้องพบผู้อื่นควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 4.ควรพิจารณาปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงาน (Work from Home) ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอรับชุดตรวจ ATK เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยเข้าสู่แอปฯ “เป๋าตัง” คลิกที่เมนู “ฟรี ชุดตรวจโควิด” และทำแบบประเมินขอรับชุดตรวจโควิด-19 จากนั้นให้กดยืนยัน กรณีผลประเมินว่า คุณมีสิทธิได้รับชุดตรวจ โควิด-19 เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดสามารถรับชุดตรวจได้ภายในวันที่ทำแบบประเมิน โดยทำตามขั้นตอน ดังนี้ 1. ทำการยืนยันตัวตนด้วยการสแกน QR Code ที่คลินิกฯ ส่งให้ผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยเลือกเมนู สแกน QR เพื่อรับชุดตรวจ คลิกที่เมนู "หน่วยบริการใกล้ฉัน" ซึ่งจะมีหน่วยบริการคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ สาขาใกล้บ้าน ที่เข้าร่วมการแจกชุดตรวจ โดยสามารถโทรสอบถามหน่วยบริการก่อนเข้ารับชุดตรวจได้ เพื่อนัดรับชุดตรวจ ตามเบอร์ที่แจ้งไว้ในหน่วยบริการนั้น ๆ (ผู้เข้ารับบริการ 1 ท่าน จะได้รับชุดตรวจ 2 ชุด สำหรับการตรวจ 2 ครั้ง กรณีผลเป็นลบ ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 5 วัน) เมื่อตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน ให้บันทึกผลตรวจผ่านแอปฯ เป๋าตัง เลือกเมนู บันทึกผลตรวจ หากผลเป็นบวก ให้ทำการบันทึกผลตรวจและกด "ยืนยัน" ว่า พบเชื้อ และเลือกช่องทางการรักษาตัวต่อไป
ปลัดกรุงเทพมหานคร ยังได้กำชับหน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้องว่า เร่งให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนครอบคลุมทั่วถึงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนสามารถแพร่ระบาดและติดเชื้อได้ง่าย ทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบโดสตามที่กำหนดเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันมากที่สุด สำหรับลักษณะของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่ได้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น หากร่างกายอ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานหรือมีภูมิต้านทานลดลง จากการที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดการระบาดต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจุบันพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น มารับบริการฉีดวัคซีนตามสถานพยาบาลและจุดฉีดนอกสถานพยาบาลทั้ง 6 จุด ที่เปิดให้บริการวอล์คอิน (Walk in) ไม่ต้องจองคิว เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวม ได้แก่ จุดที่ 1 ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) จุดที่ 2 ธัญญาพาร์ค จุดที่ 3 Central พระราม 3 จุดที่ 4 Central ปิ่นเกล้า จุดที่ 5 Central อีสวิลล์ และจุดที่ 6 โรบินสัน ลาดกระบัง
"ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจบ้านพักคนชราให้ได้มาตรฐานทุกแห่ง เพราะว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง และไปดูในเรื่องของการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ว่าฉีดครบหรือไม่ หากยังไม่ครบ กทม.ก็จะฉีดให้ และให้ 50 สำนักงานเขต รวบรวมรายชื่อของกลุ่ม 608 สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับไปแล้วและถึงระยะที่ต้องฉีดกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ให้เจ้าหน้าที่แต่ละเขตเดินสายไปตามบ้าน เพื่อฉีดวัคซีนให้"