เมื่อวันที่ 18 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย ในช่วงเทศกาลหลังสงกรานต์ ว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 เม.ย. สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทย วันที่ 17 เม.ย.คิดเป็น 23.61% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย หากดูเฉพาะทวีปเอเชีย จะพบว่า จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลงถึง 28% และเสียชีวิตลดลง 23% เท่ากับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก
แต่สำหรับไทยเรานั้น จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 11% (ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียและของทั่วโลก) และจำนวนเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 19% ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็น ว่า การระบาดของไทยยังคงรุนแรงเมื่อเทียบกับภาพรวมของทวีปเอเชียและของโลก นอกจากนี้ตัวเลขทางการนั้นก็ยังไม่ได้รวมจำนวนที่ตรวจ ATK อีกด้วย ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นสวนกระแสโลกอย่างชัดเจน นโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่ผ่านมานั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และจำเป็นจะต้องได้รับการทบทวน…หากเห็นคุณค่าของชีวิต…
ล่าสุด Chen C และทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกอย่างเป็นระบบจนถึง 13 มีนาคม 2565 และทำการวิเคราะห์อภิมาน เพื่อดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID หรือ Post COVID conditions ในผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากลด้านโรคติดเชื้อ Journal of Infectious Diseases เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
ทบทวนงานวิจัย 50 ชิ้น และนำ 41 ชิ้นมาวิเคราะห์อภิมาน ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะประสบปัญหา Long COVID สูงถึง 43% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 39%-46%)
ทั้งนี้ คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเกิดปัญหา Long COVID ได้ 54% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 44%-63%) ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ติดเชื้อแต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลที่พบว่ามีปัญหา Long COVID 34% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 25%-46%) ถ้าเปรียบเทียบระหว่างทวีป จะพบว่า ทวีปเอเชียมีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ประสบปัญหา Long COVID สูงที่สุดคือ 51% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 37%-65%) โดยทวีปยุโรปพบประมาณ 44% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 32%-56%) และทวีปอเมริกาเหนือ 31% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 21%-43%)
ดังนั้น จึงสะท้อนให้เราเห็นว่าปัญหาผลกระทบระยะยาวจาก Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่พบบ่อยกว่าที่คาดการณ์ และจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศในระยะยาว ติดเชื้อจึงไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่จะมี Long COVID เป็นเส้นทางที่ 3 ซึ่งทางเส้นนี้เป็นทางที่ขรุขระและยาวไกล
โปรดอย่าหลงคำลวง ภาพลวง ว่ามันกระจอก ก็แค่หวัดธรรมดา เอาอยู่ แป๊บเดียวก็หาย แว่บเดียวก็ประจำถิ่น… เพราะสุดท้ายแล้วคนรับกรรมคือคนที่หลงเชื่อแล้วทำตัวดี๊ด๊า ไม่ป้องกัน ส่วนกลุ่มลวงโลกก็ลอยตัว ไม่สนใจ และไม่รับผิดชอบ
การใช้ชีวิต ทำมาหากิน หรือศึกษาเล่าเรียนนั้น… ทำได้แน่นอน
แต่ต้องมีสติ ปรับกระบวนการต่างๆ ให้ปลอดภัย เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง และป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากเสมอ… เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะคือปราการด่านสุดท้ายของแต่ละคน”