สร้างความเข้าใจและความร่วมมือของผู้ประกอบการ เจ้าของตลาด/ผู้ดูแลตลาด รวมถึงผู้ค้า/ผู้ช่วยค้าในตลาด ทั้งที่อยู่ในความดูแลของ กทม.และตลาดของเอกชน ให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการในตลาดให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ จัดพื้นที่ให้มีการเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัด จัดภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด รวมถึงการตรวจสอบระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการ
นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง การดำเนินมาตรการป้องกันโรค เพื่อควบคุมกำกับดูแลตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ได้กำชับเน้นย้ำเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของผู้ประกอบการ เจ้าของตลาด/ผู้ดูแลตลาด รวมถึงผู้ค้า/ผู้ช่วยค้าในตลาด ทั้งที่อยู่ในความดูแลของ กทม.และตลาดของเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการในตลาดให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ จัดพื้นที่ให้มีการเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัด จัดภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด รวมถึงการตรวจสอบระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการ
ที่ผ่านมา สำนักอนามัย ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ค้าและแรงงาน ในตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Video Conference (Zoom Meeting) มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานเขต 50 เขต และผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 แห่ง โดยขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตและผู้ประกอบการตลาด ดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานครและมาตรการป้องกันโรค เพื่อควบคุมกำกับดูแลตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทาง Covid Free Setting ของกรมอนามัย รวมทั้งการดูแลด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการตลาดต้องควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ขาย แรงงาน และผู้ใช้บริการในตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการหลัก D-M-H-T-A (เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากอนามัย-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ-ใช้แอปพลิเคชัน) อย่างเคร่งครัด 2. ผู้ประกอบการตลาด ต้องดูแลตลาดให้ถูกสุขลักษณะด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอยู่เสมอ เช่น การล้างทำความสะอาดตลาดเป็นประจำ การปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) 3. ผู้ประกอบการตลาดต้องประเมินตนเองผ่านระบบThai Stop Covid Plus โดยสามารถพิมพ์ใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ติดแสดง ณ สถานประกอบการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ รวมทั้งให้ผู้ประกอบการตลาดประเมินตนเองผ่านระบบแอปพลิเคชัน BKK Food Safety ทุกเดือน 4. ให้ตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 และฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ขายและแรงงานในตลาดให้ครบตามหลักเกณฑ์ หากมีการจ้างแรงงานรายใหม่ ให้ผ่านการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์หรือมีผลตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เบื้องต้นหรือผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ไม่เกิน 7 วันหรือเป็นผู้เคยติดเชื้อมาแล้ว 1 - 3 เดือน
รองปลัดกทม. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขต ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ในตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 แห่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมกำกับและติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรณีตลาดที่ตรวจพบข้อบกพร่อง สำนักอนามัยได้ให้คำแนะนำผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไข และสำนักงานเขตตรวจสอบซ้ำ และควบคุมกำกับให้ปฏิบัติให้ผ่านตามมาตรการฯ รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานเขตทุกเขตตรวจควบคุมกำกับตลาดในพื้นที่ทุกแห่งซ้ำเป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดทุกแห่งสามารถปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้ตลอดเวลา และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ให้ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สำนักงานเขต 50 เขต ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ติดตาม กำกับ และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) อย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการดำเนินการเป็นประจำทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ หากประชาชนพบตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขและ กทม. กำหนด และเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สามารถแจ้งข้อมูลผ่านทาง ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร โทร. 1555 ศูนย์สายด่วนสำนักอนามัย โทรศัพท์ : 0 2245 4964 (24ชั่วโมง) แอปพลิเคชัน BKK FoodSafety และสำนักงานเขต 50 เขต ในวันและเวลาราชการ