ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในโอกาสครบรอบวันพระราชสมภพ วันที่ 17 เมษายน 2565 พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในโอกาสครบรอบวันพระราชสมภพ ณ วัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งมูลนิธิพระเจ้าตากสินมหาราชได้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการช่วยกอบกู้อิสรภาพปลูกจิตสำนึกในการรู้รักสามัคคีของคนในชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรืออีกพระนามคือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระราชสมภพ ในวันอาทิตย์เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำปีขาล จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายนพุทธศักราช 2277 ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีพระนามเดิมว่า “สิน” พระบิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว นามว่า “นายไหฮอง แซ่แต้” พระมารดา เป็นหญิงไทยนามว่า “นกเอี้ยง” ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 พระองค์ได้รวบรวมเสบียงและกำลังคนได้ราว 5,000 นาย จึงได้ยกทัพเรือล่องมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาและยึดเมืองธนบุรีจากพม่าได้สำเร็จ จากนั้นพระองค์ได้ยกทัพเรือต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะสามารถเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น และขับไล่ทหารพม่าออกไปจากราชอาณาจักร สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จภายในเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่ที่เสียกรุง ทรงตั้งราชธานีใหม่ ขนานนามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” และทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ในพระชนมายุ 34 พรรษา ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 และพระราชกรณียกิจหลังจากนั้นของพระองค์ คือการปราบปรามก๊กต่างๆ ที่แตกแยกเป็นฝ่าย เพื่อรวบรวมให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน และฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากทำสงครามกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์ได้ 15 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา ตลอดรัชสมัย ภายหลังการกอบกู้อิสรภาพของชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันทรงคุณอนันต์ ทรงแผ่พระบารมีปกเกล้าให้บังเกิดความสงบร่มเย็นแก่ชาติบ้านเมืองตลอดมา พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านการรบเพื่อป้องกันบ้านเมืองและปราบปรามชุมนุมคนไทยในท้องถิ่นต่างๆ ก่อให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเป็นเอกภาพ ทรงฟื้นฟูทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีสภาพดีเหมือนกับสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังทรงติดต่อค้าขายกับนานาชาติและขยายอาณาเขตโดยมีกรุงธนบุรีเป็นศูนย์กลางกลางบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ได้ทรงรวบรวมช่างฝีมือที่ยังหลงเหลือจากกรุงเก่าทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามพระราชวังและงานฝีมือต่างๆ ทั้งยังรวบรวมขุนนางผู้รู้ธรรมเนียมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเข้ารับราชการ ทรงนิมนต์พระสงฆ์ ผู้มีความรู้ปฏิรูปพระพุทธศาสนาและทำการคัดลอกพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังทรงฟื้นฟูศิลปะการละครและศิลปกรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีคุณูปการแก่ประเทศชาติเป็นอเนกอนันต์ ประชาชนชาวไทยต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยถวายพระราชสมัญญานามว่ามหาราชและถือเอาวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ในส่วนของมูลนิธิพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานขึ้นในวันนี้ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2523 โดยมี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานกรรมมูลนิธิฯ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหลัก คือ “สร้างโรงพยาบาล ดูแลทหาร บูรณะวัดวาอาราม” ซึ่งที่ผ่านมากรรมการมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างและอุปถัมภ์โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ จ.ตาก การช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ พิการจากการสู้รบเพื่อปกป้องประเทศชาติ ฯลฯ ปัจจุบันมูลนิธิฯ มี พลเรือเอก วสินธ์ สาริกะภูติ เป็นประธานกรรมการฯ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ