สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสานนั้นมีมากมายหลายรูป แต่สำหรับ ‘หลวงปู่ดีโลด’ หรือ ‘พระครูดีโลด’ นั้น ชาวอีสานทุกคนต้องรู้จักและให้เคารพศรัทธาอย่างสูง โดยเฉพาะ ชาวอุบลราชธานีและนครพนม เพราะท่านเป็นพระเกจิผู้มีคุณูปการต่อพระบวรพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนอย่างสูง ‘หลวงปู่ดีโลด’ เป็นสมญานามของ พระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือ หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด เกิดที่ ต.ในเมือง อ.เมือง เมื่อปี พ.ศ.2396 โยมบิดาชื่อ บุดดี โยมมารดาชื่อดา มีนิสัยสุภาพเรียบร้อย ท่านบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก ศึกษาวิชาความรู้เบื้องต้นที่สำนักราชบรรเทา ทั้งอักษรลาว ไทย ขอม และวิชาการช่าง เมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบท ณ วัดป่าน้อย (ปัจจุบันคือ วัดมณีวนาราม) จ.อุบลราชธานี โดยมี ท่านอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากนั้นมาจำพรรษาที่วัดทุ่งศรีเมือง เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองว่างลง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทุ่งศรีเมือง สืบต่อมา หลวงปู่รอด มีความชำนาญเป็นเลิศทางด้านวิปัสสนาธุระและไสยเวท รวมทั้งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง ท่านเป็นพระเกจิที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและดำรงตนตามครรลองแห่งพระธรรมวินัยอยู่เป็นนิจศีล รักสันโดษ มีความเมตตากรุณา ให้ความช่วยเหลือแก่พุทธศาสนิกชนทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้การอบรมและสอนสั่งธรรมะแก่ทุกผู้ทุกนาม ทำให้คนชั่วกลับตัวมาเป็นคนดีเป็นจำนวนมาก ทั้งยังพัฒนาวัดทุ่งศรีเมืองจนเจริญรุ่งเรือง จึงเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล จนได้รับการขนานนามว่า ‘หลวงปู่ดีโลด" ซึ่งหมายความว่า ทุกอย่างของหลวงปู่ดีหมด หรืออีกนัยหนึ่ง อาจสืบเนื่องจากการที่เวลาหลวงปู่จะพูดอะไรหรือฟังใครพูด ท่านก็มักรับคำว่า "ดีๆ" แม้อุทานท่านก็เปล่งคำว่า "ดีๆ" ผู้คนจึงให้นามว่า ‘หลวงปู่ดีโลด’ ตามคำพื้นเมืองของอีสาน ซึ่งก็หมายความว่า "ดีเลย" นั่นเอง พระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือ หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง หลวงปู่รอด ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมาตามลำดับ ดังนี้ เป็นเจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ, ที่พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช, พระอุปัชฌาย์ และสมณศักดิ์สุดท้าย เป็นที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ท่านมรณภาพเมื่อปลายปี พ.ศ.2484 สิริอายุ 88 ปี พรรษาที่ 68 ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมกันสร้าง ‘เจดีย์’ เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่วัดทุ่งศรีเมือง และสร้าง ‘รูปเหมือน’ ไว้ที่ฐานขององค์พระธาตุพนม พร้อมจารึกเกียรติประวัติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่าน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้หลวงปู่รอดเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ ก็คือ การได้รับความเชื่อถือแต่งตั้งให้เป็นประธานในการบูรณะซ่อมแซม "พระธาตุพนม จ.นครพนม" ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก ... ในปี พ.ศ.2483 (ก่อนท่านมรณภาพเพียง 1 ปี) ทางราชการต้องการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้ หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้ดูแล ซึ่งท่านได้ทราบเรื่องราวและผลงานของหลวงปู่รอดและมีความศรัทธาอย่างมาก จึงได้ขออนุญาตในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น 2 แบบ คือ "เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด" และ "เหรียญพระธาตุพนมช่วยชาติ" ซึ่งหลวงปู่รอดทำพิธีปลุกเสกด้วยตนเองทั้งสิ้น ... เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด ปี 2483 เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด ปี 2483 "เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด" นั้น ได้มอบให้ทางวัดทุ่งศรีเมือง ส่วน "เหรียญพระธาตุพนมช่วยชาติ" มอบให้ทางพระธาตุพนม เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ร่วมซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม และกว่าการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมจะเสร็จสิ้นลงได้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะและบุญบารมีของหลวงปู่รอด การบูรณะองค์พระธาตุพนมก็สำเร็จลงในที่สุด นับเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มาก สำหรับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด ปี 2483 จัดสร้างเป็น เนื้อทองแดง เนื้อสัมฤทธิ์ และกะไหล่เงิน กะไหล่ทอง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงปู่รอด นั่งสมาธิเต็มองค์ เหนืออาสนะ มีอักขระขอมด้านซ้าย-ขวา อ่านว่า ‘อะ เม อุ’ และ ‘นะ มะ พะ ทะ’ ด้านหลัง มีอักขระขอมอ่านจากบนลงล่างเป็น 4 แถวว่า ‘อะระหัง อะระหัง หังระอะ ยะระหา’ ประการสำคัญคือ เป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของหลวงปู่รอดที่ปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง จึงนับเป็นเหรียญอันทรงคุณค่าทางด้านจิตใจ ทั้งมีพุทธคุณปรากฏเป็นเลิศในด้านเมตตามหานิยม ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงตลอดแนวลำน้ำโขง ลำน้ำชี ลำน้ำมูล ฯลฯ ตลอดจนแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์ครับผม เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด ปี 2483 เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด ปี 2483