เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี
ผ่านพ้นไตรมาสแรกของ ปี 2565 ไปเรียบร้อยแล้ว และย่างเข้าสู่ “ ปีใหม่ไทย ” เดือนเม.ย. ต้องยอมรับการความเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังคงรักษาความเข้มข้น เอาไว้ชนิดที่ต้องเรียกว่า “ไม่มีแผ่ว” !
วันนี้ “สยามรัฐ” ได้ประมวล “นักการเมืองเด่น” ที่อยู่ในกระแส ดึงดูดทุกความสนใจ มานำเสนอ ว่าแต่ละคน แต่ละขั้วล้วนมีส่วนช่วยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรงทางการเมือง มากน้อยแค่ไหน
"บิ๊กตู่" ยิ่งอยู่ ยิ่งเหนื่อย
เริ่มกันที่ "บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่เป็นควบตำแหน่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจนถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวมๆ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาแล้ว 7 ปีกว่า และจะครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่งเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีเป็นอีกเรื่องที่มีข้อสงสัยว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ของชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่สามารถทำความเห็นในเรื่องนี้ได้ การชี้ขาดวาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสินไม่ใช่สภา ขณะที่เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มองว่าต้องนับตั้งพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2557 เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 264 กำหนดความแบบเฉพาะเจาะจงไว้
ซึ่งสวนทางกับฝ่ายกฎหมายของสภาที่มีความเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้
ทั้งนี้การที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯมีความเห็นออกมาในลักษณะนี้ทำให้ถูกมองได้ว่า เข้าข่าย “สมคบคิด” เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาวต่อไปและจะจบอย่างไรก็อยู่ที่ว่าจะมีใครไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาเรื่องนี้หรือไม่
โดยก่อนเรื่องนายกฯ 8 ปี ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเผชิญศึกใหญ่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ที่ฝ่ายพร้อมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาเดือนพ.ค.นี้ ที่แม้ฝ่ายค้านจะเอาข้อมูลอะไรมาโจมตี ก็เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถชี้แจงเรื่องเหล่านั้นได้
แต่ที่น่าจับตามองคือ ช่วงการยกมือโหวตลงมติ แน่นอนว่าฝ่ายค้านพร้อมใจยกมือโหวตไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นไปตามมติพรรค ที่ออกมาอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น แต่ที่น่ากังวลคือเสียงจากคนภายในที่กลายเป็นคนภายนอกอย่างกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย
ที่แม้พี่ใหญ่ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังยืนยันพรรคเศรษฐกิจไทยอยู่กับรัฐบาล แต่ต้องไม่ลืมว่า ร.อ.ธรรมนัส คือคนที่เดินเกมใต้ดินล้มน้องรักอย่าง "บิ๊กตู่" ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเดือนก.ย. 2564 มาแล้ว จน "บิ๊กป้อม" ต้องเปิดบ้านป่ารอยต่อฯ เคลียร์ใจก่อนลงมติเอง
ศึกนี้ "บิ๊กตู่" จะผ่านไปได้หรือไม่ อยู่ที่การวางเกม วางแผน ทั้งการดีลยกมือโหวตอภิปรายที่จะต้องลงตัวก่อนลงมติหรือการเดินเกมด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องลุ้นกันต่อไป !
"ธรรมนัส" ดังแล้วแยกวง
เป็นอีกคนที่สร้างสีสันและสัญลักษณ์ความร้าวฉานของพรรคพลังประชารัฐคงหนีไม่พ้น "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่บุคคลสำคัญได้รับความไว้วางใจจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรค
ซึ่งภายในพรรคพลังประชารัฐ ตัวร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก ถึงแม้จะรับบทเป็นแกนนำในการต่อสู้เลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา รวมถึงความขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหอกนำทีม เปิดดีลล้ม "บิ๊กตู่" ยกมือโหวตไม่ไว้วางในศึกอภิปรายช่วงเดือนก.ย. 2564 ถึงแม้แผนของร.อ.ธรรมนัส จะไม่ได้เป็นดังหวัง แต่ก็เป็นจุดเริ่มของความบาดหมางกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาแก้เกมด้วยการปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์
ฝั่งร.อ.ธรรมนัส เองก็เดินเกมด้วยการย้ายหอบหิ้วส.ส.ในมือเกือบ 20 คนจากพรรคพลังประชารัฐ ไปตั้งก๊กใหม่ที่พรรคเศรษฐกิจไทยด้วยการช่วยเหลือจาก "บิ๊กป้อม" พี่รักของ "บิ๊กตู่" เอง ซึ่งเมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ได้เปลี่ยนชุดใหม่เป็นพรรคเศรษฐกิจไทยก็ได้สร้างผลงานโดดเด่นโหวตสวนรัฐบาลเห็นด้วยกับร่างกฎหมายสุราที่พรรคก้าวไกลเสนอ โดยมติที่ประชุมสภาอนุมัติให้รัฐมนตรีรับร่างดังกล่าวกลับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ
ล่าสุดพรรคเศรษฐกิจไทยก็ได้เปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการโดยมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มาเป็นหัวหน้าพรรค และร.อ.ธรรมนัส นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคเอง ซึ่งวันนั้น ร.อ.ธรรมนัส ประกาศกร้าวไม่ขอร่วมดินเนอร์กับพล.อ.ประยุทธ์แน่นอน ซึ่งท่าทีของร.อ.ธรรมนัสที่ออกมาแบบนี้ ก็ทำให้น่าจับตามองว่าในการศึกอภิปรายโหวตไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในช่วงเปิดสมัยประชุมในเดือนพ.ค.นั้น ส.ส.พรรคเศรษกิจไทยจะเป็นฝ่ายยกมือคว่ำ "บิ๊กตู่" หรือไม่
“แพทองธาร” ทายาทการเมือง "ทักษิณ"
ข้ามฝั่งมาที่พรรคเพื่อไทยกันบ้าง ที่ผ่ามาได้เปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ทายาท “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม (inclusion and innovation) พรรคเพื่อไทย และต่อมา เธอขึ้นแท่นเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”
โดยก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัว แพทองธาร ในการประชุมใหญ่พรรคที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่นก็ได้สร้างความอลังการ เปิดเวทีให้ แพทองธาร ได้โชว์วิสัยทัศน์ปฏิรูป 3 เรื่องประกอบด้วย 1.ปฏิรูปการศึกษา 2.ปฏิรูปเทคโนโลยี 3.ต้องส่งเสริมซอฟท์ พาวเวอร์ (Soft Power) รวมถึงต้องสนับสนุนการมีเสรีภาพทางความคิด ซึ่งผู้นำของประเทศต้องมีหัวใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
หลังจากแพทองธาร กระโดดเข้ามาเล่นการเมืองอย่างเป็นทางการ ก็เป็นที่ถูกจับตามองอีกครั้งถึงการของ ทักษิณ โดยใช้ลูกสาวเดินเกมการเมืองในประเทศไทยแทนตัวเองที่ลดบทบาทลงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยใช้ชื่อ “โทนี วู๊ดซัม” วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในคลับเฮ้าส์ แทบทุกสัปดาห์
และการที่พรรคเพื่อไทยตั้ง แพทองธาร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยก็เท่ากับเป็นเหมือนการตีกลองสะบัดชัย ส่งสัญญาณเริ่มเดินหน้าสู่สนามรบในการเลือกตั้งที่จะมีในครั้งหน้า ด้วยการประกาศปลุกใจคนพรรคเพื่อไทยบนเวทีของแพทองธาร โดยตั้งเป้าหมายการเลือกตั้ง แลนสไลด์ทั้งแผ่นดิน เราพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อถึงเวลา และ 14 ล้านเสียงในช่วงพรรคไทยรักไทย จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
รวมทั้งจะต้องจับตาว่า พรรคเพื่อไทยจะส่งชื่อ แพทองธาร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคหรือไม่ เพราะท่าที นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ปฏิเสธด้วยคำพูดที่ว่า "คงอยู่ที่พี่น้องประชาชนว่าอย่างไร ถ้าตอบรับมีเสียงสนับสนุนก็เป็นไปได้ทั้งหมด อยู่ที่พี่น้องประชาชนและพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเสนอ " ซึ่งเป็นการย้ำชัดว่า ตระกูลชินวัตรกลับมาแล้ว
หวยทำพิษ ! “แรมโบ้” ติดบ่วง“คลิปลับ”
เรื่องร้อน ๆ ที่เป็นประเด็นทอล์ก อ๊อฟ เดอะทาวน์ เมื่อมีคลิปเสียงหลุดของ “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่เรียกได้ว่าเป็นมือเป็นไม้ เป็นด่านหน้าของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เมื่อ "บิ๊กตู่" มีภัยถูกโจมตีทางการเมือง แรมโบ้จะกระโดดเข้าไปป้องทันที
ซึ่งคลิปเสียงดังกล่าวเป็นของ เสกสกล ในฐานะรองประธานแก้ไขสลากเกินราคาฯ ประธานอนุกรรมการฯในฐานะหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ ได้สนทนากับ จุรีพร สินธุไพร ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องเงิน 15 ล้านบาทที่เกี่ยวโยงกับบริษัทล็อตเตอรี่ออนไลน์
โดยเสกสกลเองได้ออกมายอมรับ ว่าเสียงในคลิปเป็นเสียงของตัวเอง พร้อมเดินหน้าแจ้งความหาคนปล่อยคลิป ทั้งยังพาตัวจุรีพร คนในคลิปมายืนยันความบริสุทธิ์ว่า เป็นการพูดคุหยอกล้อกันเท่านั้น
แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะเนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ได้เข้าตรวจสอบกรณีนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้ดำเนินการกันไป หากผิดก็คือผิดถูกก็คือถูก ไม่ยุ่งและไม่ขัดข้องอะไร
ปิดฉากการเมือง “เอ๋ ปารีณา"
ปิดท้ายคนเด่นกันที่ "เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ภายหลังศาลฎีกามีคำสั่งให้ ปารีณา พ้นจากตำแหน่งส.ส. เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ส่งผลให้ ปารีณาไม่สิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีก
ซึ่งเรื่องดังกล่าวเริ่มจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยว่า ปารีณา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หลังจากพบว่า ปารีณา ได้ร่วมกับทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบในพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรีเมื่อ 18 ปีก่อน
ขณะที่ปารีณา ก็ได้ให้สัมภาษณ์สั้น ๆ ว่า” ทราบคำพิพากษาแล้ว ขอเวลาทำใจก่อน และยังไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องนี้"
ทั้งนี้ ปารีณา ถือเป็นคนที่สร้างสีสันทางการเมือง เพราะด้วยท่าทีที่ไม่กลัวใคร พร้อมชนทุกคน ทำให้พรรคพลังประชารัฐมักจะวางตัวให้ทำหน้าที่ “องครักษ์พิทักษ์” ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ทุกครั้งในการอภิปราย ที่หลายครั้งต้องปะทะเดือดกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยก็ไม่เคยแพ้ ถือว่าวันนี้พรรคพลังประชารัฐเสียผู้พิทักษ์อัศวินไปอีกหนึ่งคน!




