วันที่ 14 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอย่างถูกต้อง ปีพุทธศักราช 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน “ปฏิทินหลวงพุทธศักราช 2565 พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่” แก่คณะสงฆ์ ส่วนราชการ และปวงชนชาวไทยตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว สาระสำคัญระบุว่า “ปีขาล ยังเป็นตรีศก จุลศักราช 1383 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2565 ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1384 เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2565 ไปจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ปีเถาะ ยังเป็นจัตวาศก จุลศักราช 1384 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2566” ความหมาย คือ วันที่ 16 เมษายนมีความสำคัญ เป็นวันเปลี่ยนศักราช/เปลี่ยนจุลศักราชกาลโยคจุลศักราช 1383 และกาลโยค จุลศักราช 1384 โดยให้นับวันปีใหม่ตั้งแต่ 16 เมษายน สอดคล้องกันการประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช 2565ของสำนักโหรหลวง ระบุว่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5(เดือน 7 เหนือ) เวลา 09 นาฬิกา 45 นาที 46 วินาที วันที่ 16 เมษายน เวลา 13 นาฬิกา 49 นาที 48 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1384 ปีนี้วันพุธเป็น วันธงชัย, วันอังคาร เป็น อธิบดี, วันอังคาร เป็น อุบาทว์, วันพฤหัสบดี เป็น โลกาวินาศ อ.รัตน์ ปาละพงศ์ รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่นำโดยท่านติรวัฒน์ สุจริตกุล ประธานสภาฯ ได้รณรงค์เรียกร้องทุกปี ขอให้ปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมอย่างถูกต้องตามวันที่เคลื่อนมาแล้วหลายปี คือวันที่ 14 เมษายน เป็นวันสังขานต์ล่อง 15 เมษายน วันเนาว์หรือวันเน่า และ 16 เมษายนวันพญาวัน ซึ่งเปลี่ยนจากในอดีตที่คงเดิมมานาน คือวันที่ 13-14 และ 15 เมษายน เมื่อการเปลี่ยนไปของวัน จึงต้องร่วมกันปฏิบัติสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมให้ตรงวัน เพื่อความสง่างามของประเพณีวัฒนธรรมไทย ด้าน อ.วัลลภ นามวงศ์ รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าวันพญาวันหรือวันเถลิงศก เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจุลศักราช ตามประกาศของโหรหลวง และสำนักต่างๆ แจ้งไว้ตั้งแต่อดีต ดังนี้ พ.ศ.2401-2442 วันที่ 14 เมษายนเป็นวันพญาวันรวม 42 ปี พ.ศ.2443-2555 วันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญาวันรวม 113 ปี และตั้งแต่ พ.ศ.2556 ไปอีก 30 ปี วันพญาวันตรงกับวันที่ 16 เมษายน หลังจากนั้นวันเถลิงศกหรือวันพญาวันจะเคลื่อนไปเป็น 17-18 เมษายน โดยไม่หยุดกระด้างตายตัว ตามความเข้าใจของคนทั่วไปซึ่งเคยชินในช่วง 113 ปีที่ผ่านมา พระครูอดุลสีลกิตติ์ เจ้าคณะตำบลหายยา เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ เจ้าของสูตรปฏิทินล้านนา กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การโยกวันสังขานต์ล่องจนถึงวันพญาวันออกไปเท่านั้น ตามประเพณีของเมืองเหนือ ยังมีวันปากปี และวันปากเดือนตามมาอีกด้วย แต่ละวันมีฮีตฮอยประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องที่คนรุ่นหลังไม่ควรละเลย โดยเฉพาะการสระเกล้าดำหัวผู้ใหญ่ในบ้านและวงศ์ตระกูล ตลอดถึงผู้อาวุโสในคุ้มบ้าน และในสังคม ซึ่งถือปฏิบัติวันสระเกล้าดำหัวต้องเป็นวันพญาวันหรือหลังวันพญาวันเป็นต้นไป อ.นิคม พรหมมาเทพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม ให้ความเห็นว่า ตามหลักฐานในปฏิทินล้านนา ที่คงหลักการที่มาของปีใหม่ล้านนาอย่างถูกต้อง เยาวชนควรศึกษาปฏิทินหรือปักขตืนท้องถิ่นให้ถ่องแท้ เรียนรู้รากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น เห็นความฉลาดของปราชญ์แต่ก่อนโดยถือเอาพระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษเมื่อใด วันนั้นคือวันขึ้นปีใหม่จะไม่หลงทางไปกับประเพณีที่เบี้ยวบิดผิดเพี้ยน วันสังขานต์ล่องจัดการขยะทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ปีนี้ตรงกับวันที่ 14 เมษายน วันเน่าหรือวันเนาว์อยู่บ้านรวมญาติทำอาหารเตรียมไปวัดปีนี้ตรงกับวันที่ 15 เมษายน ทั้งวันสังขานต์ล่องและวันเน่ายังไม่เป็นปีใหม่ เพียงแต่เตรียมเท่านั้น วันพญาวัน เป็นวันเปลี่ยนปีจุลศักราช เข้าสู่ จ.ศ.1384 เข้าสู่ปีเต่ายีหรือปีขาล ตรงกับวันที่ 16 เมษายน ไปวัดสรงน้ำพระเจ้า ปักตุง วันนี้ถือว่าขึ้นปีใหม่ เริ่มพิธีสระเกล้าดำหัวได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป “วัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น หากไม่เรียนรู้รากเหง้าที่แท้จริงจะถูกกลืนจากวัฒนธรรมถิ่นอื่นเข้าครอบงำวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหมด แต่ก่อนเราเคยหยุดงานวันพระหรือวันศีลมีโอกาสไปวัด ปัจจุบันเราถูกครอบให้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ตามวิถีฝรั่งตะวันตก เราห่างวัดไปเลยสุดกู่ สังคมชาวพุธเลยยุ่งเหยิงบ้านเมืองไม่อยู่สุข เพราะวิถีเปลี่ยนไปมาก แม้บางคนบอกว่าเวลาเปลี่ยนไปแล้ว ต้องเปลี่ยนตามจะหยุดได้ยังไง ? จะหยุดอยู่กับที่เป็นหัวโบราณหรือ ไม่ทันสมัยขี่เครื่องบินกับชาวโลกหรือ จะนั่งเกวียนไปตลอดชาติหรือไง? คำถามเหล่านี้ก็ไปหาคำตอบเอาเองเน้อ” อันที่จริง การเคลื่อนไปของสุริยยาตร์ที่ทำให้วันเถลิงศกของคนไทยทั้งประเทศ (หรือวันพญาวันของภาคเหนือ) เคลื่อนไปเป็นวันที่ 16 เมษายนนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และสภาวัฒนธรรมจังหวัด ได้ส่งข้อมูลให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติไปแล้ว เพื่อกำหนดให้วันเถลิงศก/วันพญาวัน เป็นวันหยุดราชการ(แทนวันไหว้พระธาตุ) ซึ่งก็รับปากเมื่อปีที่แล้ว เข้าใจว่าปีนี้ 16 เมษายนตรงกับวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการอยู่แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นวันหยุดแทนวันไหว้พระธาตุของชาวภาคเหนือ ตามที่ ครม.เคยกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อฟังจากท่านผู้รู้ในเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมต่างก็มีความเห็นว่า เพื่อให้การปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม และเป็นสิริมงคล สมควรจะปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตามวันสำคัญทางประเพณีนี้ให้ถูกต้อง จะนำมาซึ่งความ ภูมิใจในความเป็นคนไทย ที่ยึดมั่นตามหลักการการคำนวณวันมหาสงกรานต์ กาลโยค วันดีวันเสีย รวมถึงวันแห่งการเริ่มต้นจุลศักราชใหม่อย่างถูกต้อง รวมทั้งความสง่างามทางวัฒนธรรม ดังคำขวัญของจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขสามัคคี ผู้คนไม่ต้องมาโต้เถียงขัดแย้งกันเองทั้งในเรื่องวันสำคัญทางประเพณีวัฒนธรรม และอื่น ๆ จึงก่อให้เกิดความปีติสุข และความเจริญสถาพรสืบต่อไปนั่นเอง.