วันที่ 13 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า... 13 เมษายน 2565 ทะลุ 500 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 1,001,876 คน ตายเพิ่ม 2,919 คน รวมแล้วติดไปรวม 500,806,429 คน เสียชีวิตรวม 6,208,916 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.87 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.67 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 31.84 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 18.73 ...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในห้าของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย ...อัพเดตจาก WHO ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 12 เมษายน 2565 เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน จำนวนติดเชื้อใหม่ทั่วโลกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลง 24% และจำนวนเสียชีวิตลดลง 18% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่หากดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 8% จำนวนเสียชีวิตลดลง 15% อย่างไรก็ตามหากดูของไทยเราจากข้อมูลของ Worldometer เช้านี้จะพบว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 7% แม้จะดูน่าดีใจว่าจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง แต่เป็นเพียงตัวเลขรายงานทางการ RT-PCR เท่านั้น โดยหากเรารวมยอด ATK ไปด้วยจะพบว่า จำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์นั้นเพิ่มขึ้น 2.57% โดยที่จำนวนการเสียชีวิตก็ยังเพิ่มขึ้น 7% ...สายพันธุ์ที่ระบาด WHO รายงานว่า Omicron ยังเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดทั่วโลกโดยมีสัดส่วนถึง 99.2% โดยมีสายพันธุ์เดลต้าเหลือน้อยกว่า 0.1% และสายพันธุ์อื่นๆ อีกราว 0.8% สำหรับ Omicron นั้น สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่อยู่ในระบบเฝ้าระวังคือ BA.1, BA.2, BA.3, BA.4, BA.5 และรวมถึงสายพันธุ์ผสมต่างๆ เช่น XE (ที่เกิดจากการผสมระหว่าง BA.1 และ BA.2) โดยที่สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมทั้งที่ส่วนหนามและนอกส่วนหนาม โดยบางตำแหน่งเช่น L452R และ F486V อาจส่งผลให้ไวรัสดื้อต่อภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยนี้มีลักษณะการหายไปของตำแหน่ง 69-70 ที่ส่วนหนาม ทำให้เกิด S Gene Target Failure (SGTF) ซึ่งน่าจะสามารถใช้แยกจาก BA.2 ได้จาก RT-PCR ...มองสถานการณ์ไทย บทเรียนจากสงกรานต์และปีใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา หากไม่ป้องกันให้ดี หลังสงกรานต์จะมีจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นราว 2-3 เท่า ทั้งนี้ ณ ช่วงปลายพฤษภาคมอาจมีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงกว่าช่วงปลายเมษายนได้มากขึ้นอีก 2 เท่า ข่าวเช้านี้เห็นการกินดื่มตอนกลางคืนตามร้านอาหารในถนนข้าวสาร และมีการจำหน่ายปืนฉีดน้ำให้นักท่องเที่ยว อาจต้องช่วยกันเตือนให้ระมัดระวังให้ดี ทั้งเรื่องการไม่ใส่หน้ากาก การกินดื่มร่วมกัน รวมถึงการเล่นน้ำ ซึ่งจะมีโอกาสแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้ง่าย และจะกระทบต่อการทำงานหรือการประกอบกิจการของร้านค้าต่างๆ ได้ เฉกเช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศ รวมถึงการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปหาครอบครัวและเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ของประชาชนในจังหวัดต่างๆ การใส่หน้ากากสำคัญที่สุด เพราะเป็นปราการด่านสุดท้าย โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ โควิด...ติด...ไม่จบแค่หายหรือเสียชีวิต แต่จะส่งผลให้เกิดปัญหา Long COVID ตามมาในระยะยาว ขอให้มีความสุข และปลอดภัยในวันสงกรานต์ครับ