ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ประเพณีขึ้นปีใหม่ในเทศกาลสงกรานต์ของราชสำนัก – ราษฎร
ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ในปฏิทินระบบสุริยคติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์โคจรย้ายราศีจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษ ในวัฒนธรรมอินเดีย ความหมายของสงกรานต์แต่ดั้งเดิมนั้นหมายถึงการโคจรของพระอาทิตย์ที่ย้ายราศีในแต่ละเดือน ครั้นไทยรับคติดังกล่าวมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย คำว่า สงกรานต์ จึงมีความหมายเฉพาะสงกรานต์เดือนห้า อันเป็นช่วงขึ้นจุลศักราชใหม่ แต่เดิมดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวันขึ้นปีใหม่อยู่ในช่วงเดือนอ้ายตามปฏิทินดั้งเดิม ต่อมาเมื่อรับวัฒนธรรมจากอินเดียจึงมีการปรับวันปีใหม่มาอยู่ในช่วงเดือนห้าในเทศกาลสงกรานต์ ดินแดนไทยและดินแดนอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มีประเพณีสงกรานต์เป็นของตนเอง
เอกลักษณ์ประการหนึ่งคือตำนานวันสงกรานต์ ไทย ลาว เขมร และพม่า ล้วนมีตำนานสงกรานต์ที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเรื่องท้าวกบิลพรหม ท้าวธรรมบาลกุมาร (หรือพระอินทร์กับอาจิพรหมในพม่า) ทายปัญหา จนในที่สุดท้าวกบิลพรหมต้องตัดศีรษะของตนเองตามที่ได้ท้าพนันไว้ เป็นมูลเหตุทำให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดกันทำหน้าที่นางสงกรานต์เชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละปี ตำนานดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการโคจรย้ายราศีของพระอาทิตย์ในแต่ละปี ซึ่งศีรษะของท้าวกบิลพรหม เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ ส่วนธิดาทั้ง 7 คือสัญลักษณ์ของวันที่พระอาทิตย์โคจรย้ายราศี นอกจากนี้ในตำนานของชนชาติไทบางกลุ่ม ยังมีลักษณะคล้ายเรื่องตำนานธรรมบาลกุมารกับท้าวกบิลพรหมที่บุคคลในตำนานถูกตัดศีรษะ แต่ศีรษะนั้นไม่สามารถอยู่บนพื้นโลกได้ จึงต้องมีการสรงน้ำศีรษะนั้นเป็นประเพณีประจำในทุกปี
ประเพณีขึ้นปีใหม่ในเทศกาลสงกรานต์ของราชสำนัก จะเห็นได้ว่าช่วงสิ้นปีจะมีพระราชพิธีตรุษ หรือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในเดือน 4 ในพระราชพิธีดังกล่าวมีพระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยสูตร และยิงปืนใหญ่เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งอัปมงคลให้หมดไปกับปีเก่า สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “ตรุษ” ที่แปลว่าตัด เป็นการตัดปีในช่วงสิ้นปีก่อนจะเข้าสู่ปีใหม่ เมื่อถึงเดือน 5 ราชสำนักประกอบพิธีขึ้นปีใหม่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นปรากฏหลักฐานในกฎมนเทียรบาลกล่าวถึงพระราชพิธีเผด็จศกลดแจตร เดือน 5 พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาสรงน้ำพระสงฆ์ และเสด็จสรงน้ำในแม่น้ำ จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจึงปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีสงกรานต์
สืบทอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะการพระราชพิธีสงกรานต์นั้นมีการก่อพระทรายในลักษณะต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และใช้ในกิจการของพระอารามสำคัญต่างๆ รวมทั้งมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์และถวายน้ำสรง สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่มีการถวายน้ำสรง แต่จะเสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำในมณฑลพิธีที่จัดไว้เท่านั้น พระราชพิธีสงกรานต์ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปรับเปลี่ยนมาอยู่โดยตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวม 3 พระราชพิธี คือ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และพระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์ เข้าเป็นพิธีเดียวกันเรียกว่า “พระราชพิธีตรุษสงกรานต์” จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการปรับพระราชพิธีสงกรานต์เหลือเพียง 1 วัน ในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี
ส่วนประเพณีสงกรานต์ในระดับของราษฎร จะเห็นได้ว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก ดังจะเห็นได้ว่ามีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการถวายภัตตาหาร หรือนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลอัฐิ การสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์หรือผู้อาวุโส ตลอดจนการก่อพระทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเพื่อเป็นการขนทรายเข้าวัดสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ และยังสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องผีบรรพบุรุษกับพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีธรรมเนียมและหลักปฏิบัติบางอย่างในช่วงผ่านปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ เช่น ในภาคเหนือมีการยิงปืนหรือจุดประทัดขับไล่ตัวสังขานต์ อันเป็นสัญลักษณ์ของวันเวลาในปีเก่าให้ผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับกลุ่มไทลื้อในสิบสองปันนาที่มีการยิงปืนขึ้นฟ้าในวันสังขานต์ไปเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับประเพณีการยิงปืนใหญ่ในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ของราชสานักไทยในช่วงเดือนสี่ เพื่อขับไล่ภูตผีปิศาจในพระนคร นอกจากนี้บางแห่งมีพิธีสะเดาะเคราะห์ เช่นในภาคเหนือ หรือในกลุ่มไทขึน
ในขณะเดียวกันวันสงกรานต์ในบางแห่งยังมีธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในปีใหม่ที่มาถึง เช่น ในประเพณีวันว่างของภาคใต้ ไม่นิยมทำงานในวันดังกล่าวเพราะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล ในภาคเหนือและพม่าจะไม่พูดคำหยาบ หรือด่าทอกันในช่วงสงกรานต์ เป็นต้น
คัดจากหนังสือ “ประเพณีสงกรานต์” กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม 2564