วันที่ 12 เม.ย.65 น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วยนายประเสริฐ ทองนุ่น ผู้สมัคร ส.ก.หมายเลข 3 เขตบางกะปิ และนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสาร พรรคไทยสร้างไทย ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำ วัดบึงทองหลางและสถานีสูบน้ำนิด้า เขตบางกะปิ น.ต.ศิธา กล่าวถึงการลงพื้นที่ ที่สถานีสูบน้ำคลองวัดบึงทองหลางและสถานีสูบน้ำนิด้า เขตบางกะปิและเขตวังทองหลางว่า คลองวัดบึงทองหลางเป็นจุดที่ กทม.ทุ่มงบประมาณสร้างระบบระบายน้ำจำนวนมาก แต่ไม่สามารถใช้การได้ หรือใช้งานได้น้อยมาก ซึ่งคลองวัดบึงทองหลาง เป็นคลองที่รับน้ำจากชุมชนและหมู่บ้านในเขตบางกะปิลงสู่คลองจั่น คลองแสนแสบ ก่อนลงอุโมงค์ยักษ์ ลงแม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลตามลำดับ ที่สำคัญ ความต่างระดับพื้นที่ ไม่ได้สูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลมากนัก ทำให้การระบายน้ำโดยอาศัยเพียงแรงโน้มถ่วงของโลกอาจไม่ทันการณ์ แม้มีเครื่องสูบน้ำแต่ไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ และมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในลำคลองหรือสถานีสูบน้ำ และการทำเขื่อนก็ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่มีความต่อเนื่องของโครงการ ขณะเดียวกันได้ เรียกร้องให้ กทม.ผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาในจุดนี้ เพราะหากระบายหรือสูบน้ำในจุดนี้ได้ดี จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตบางกะปิและเขตใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ตามการระบายน้ำในจุดคลองวังทองหลาง ไปจนลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในส่วนที่ผ่านอุโมงค์ยักษ์ และในการระบายน้ำผ่านคลอง รวมทั้งระบบได้ราว 215 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าเพียงพอต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพียงแต่ขอให้มีการบริหารจัดการที่ดี และเตรียมการให้เหมาะสม ก่อนที่ฝนจะมาเท่านั้น น.ต.ศิธา เสนอว่า กลไกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือการพร่องระดับน้ำ เมื่อทราบจากพยากรณ์อากาศว่าฝนจะตกในปริมาณที่อาจเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้ ต้องพร่องน้ำในคลองเตรียมไว้รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะเติมเข้ามาในคลอง ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาน้ำท่วมขัง หรือ น้ำรอระบาย บรรเทาเบาบางลงได้ ที่สำคัญจะมุ่งพัฒนาคลองให้มีหน้าที่ใน 2 ส่วนคือเป็นทั้งแก้มลิง และเป็นทั้งทางระบายน้ำ แทนที่น้ำจะท่วมขังในหมู่บ้าน ในถนนหรือในวัด ระหว่างรอการระบาย ก็จะไหลลงไปในคลองซึ่งพร่องน้ำรอไว้อยู่แล้ว