เว็บไซต์ “vichaivej-nongkhaem.com” ของโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม โพสต์ข้อความระบุว่า... สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังน่ากังวล และทุกคนต้องอยู่บ้านหากไม่มีความจำเป็นก็ให้งดเดินทาง งดออกจากบ้านหรือ ​Work Form Home เพราะฉะนั้นในช่วงสถานการณ์แบบนี้สิ่งที่ทุกบ้านควรต้องมี คือ ยาสำคัญพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อป้องกันหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ยาจะประกอบไปด้วย ยาเพื่อรักษาตามอาการ ซึ่งยากลุ่มนี้สามารถมีติดบ้านไว้ได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาอาการของโรคที่อาจเกิดขึ้น ส่วนยาประเภทที่สอง คือ ยาเพื่อรักษาเพื่อลดการเกิดปอดอักเสบ หรือลดการเสียชีวิต เป็นการรักษาเฉพาะเพื่อต่อสู้กับไวรัส ซึ่งจะเป็นยาที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ยาที่ควรจะมี หรือสามารถซื้อไว้ติดบ้านได้ จะเป็นยาในกลุ่มแรก คือ ยารักษาตามอาการ หรือยาเพื่อบรรเทาอาการของโรค 1. ยาประจำตัว สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรวางแผนเรื่องของยาให้มียาทานต่อเนื่อง 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทางไปโรงพยาบาล และลดการกำเริบของโรค 2. ยาพาราเซตามอล โดยให้กินยาพาราเซตามอลทันทีเมื่อมีไข้ หรือมีไข้สูงเกิน 37 องศาเซลเซียส เนื่องจากนอกจากอาการโควิด-19 การมีไข้สูงอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ร่างกายอ่อนเพลีย หรือร่างกายขาดน้ำ กินยาพาราเซตามอลให้เหมาะกับน้ำหนักตัว ทำไมถึงไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในการลดไข้ : จากข้อมูลเบื้องต้นคุณหมอมักไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในการรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ หรือผู้ที่มีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็ก เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มสาเหตุของอาการตับอักเสบมากขึ้น 3. ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันการป่วยจากโควิด-19 ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ใช้เมื่อเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ไม่ควรกินเกินวันละ 180 มิลลิกรัม แบ่งกินวันละ 3-4 ครั้ง ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินเกิน 5 วัน หลังกินยาฟ้าทะลายโจรไป 3 วันหากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ ไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจร ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาลดความอ้วน ควรเลือกซื้อยาฟ้าทะลายโจรที่ผ่านการรับรองจาก อย.เท่านั้น 4. ยาแก้ไอแบบเม็ด Dextromethorphan ถ้ามีอาการไอเยอะ สามารถกินได้ แต่ควรกินตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และกินเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีอาการปอดอักเสบ เนื่องจากสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบแล้ว หลายคนจะมีอาการไอมากกว่าปกติ รวมถึงมีเสมหะจำนวนมาก ซึ่งผลิตจากถุงลมส่วนล่าง ที่พยายามจะขับออกมาเวลามีเชื้อ ดังนั้นหากมีอาการปอดอักเสบแล้ว กินยาแก้ไอลักษณะนี้ เหมือนเป็นการไปกดอาการไอมากจนเกินไป ทำให้ร่างกายจะขับเสมหะออกมาตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ **ยานี้เป็นยาเพื่อบรรเทาอาการไอเท่านั้น ไม่ได้มีผลเกี่ยวกับการที่เชื้อจะลงปอดหรือไม่ 5. ยาลดน้ำมูก Chlorpheniramine หรือ CPM เป็นยาเพื่อช่วยลดเสมหะ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น สามารถบรรเทาอาการได้ ในคนที่มีอาการเยอะ ข้อควรระวัง : หากเป็นผู้ป่วยโรคไต หรือ โรคตับบางอย่างที่มีข้อห้ามในการใช้ก็ต้องระมัดระวัง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : หากใช้มากเกินไปอาจทำให้น้ำมูกแห้ง คอแห้ง ปากแห้ง หรือมีอาการง่วงซึมได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 6. ยาแก้แพ้ Fexofenadine เป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดน้ำมูก สามารถมีติดบ้านได้ แต่ให้ทานเท่าที่จำเป็น หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ 7. ผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) หรือที่เรียกว่า ผงน้ำตาลเกลือแร่ (Electrolyte Powder Packet) คือ สารที่ช่วยทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มพลังงาน เกลือแร่ และน้ำในร่างกาย รวมทั้งป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่จากอาการท้องเสีย หรือ อาเจียน ให้ชงเกลือแร่ ORS ผสมน้ำต้มสุก น้ำสะอาด จิบเรื่อยๆ ทั้งวัน (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน) 8. ยาสามัญประจำบ้านอื่น ๆ เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย-ไซเมธิโคน ยาธาตุน้ำแดง ลดอาการท้องอืด ผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย ยาระบายมะขามแขก ยาถ่ายพยาธิลำไส้ มีเบนดาโซล ยาแก้ไอน้ำดำ ยาดมแก้วิงเวียน ยาหม่อง ยาโพวิโดน-ไอโอดีน ใส่แผลสด น้ำเกลือล้างแผล คาลาไมน์โลชั่น ยาทาแก้ผดผื่นคัน **ซึ่งยาในกลุ่มดังกล่าวข้าวต้น ยกเว้นยารักษาโรคประจำตัว จะเป็นยาที่สามารถซื้อไว้ติดบ้านได้ แต่ไม่ใช่ยาในการลดอาการปอดอักเสบ หรือลดการเกิดโรครุนแรง เป็นกลุ่มยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการ ให้ใช้เมื่อจำเป็น ในคนที่ไม่มีข้อห้าม ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงโรค แต่เป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น*** นอกจากนี้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควรต้องมีติดบ้าน ได้แก่ 1. ปรอทวัดไข้ โดยวัดในช่วงเช้า และเย็น อุณหภูมิร่างกายไม่ควรเกิน 37.5 องศาเซลเซียส และสังเกตอาการอื่นร่วม ที่อาจเสี่ยงเป็นโควิด-19 เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ต้องรีบไปพบแพทย์ 2. เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด เป็นเครื่องที่ใช้หนีบบริเวณปลายนิ้ว สามารถอ่านค่าออกซิเจนเบื้องต้นของร่างกายได้ โดยค่าออกซิเจนในเลือดทั่วไปจะอยู่ที่มากกว่า 95% เครื่องนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องกักตัวที่บ้าน หรือรอเตียงรักษา การวัดออกซิเจนในเลือดจะช่วยทำให้เราสามารถทราบว่า อาการของเราแย่ลงหรือยัง ถ้าค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95 ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที 3. เจลลดไข้ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก หรือมีเด็กเล็ก กลุ่มยาที่สามารถซื้อไว้ติดบ้าน ไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาอาการโควิด-19 โดยตรง หากมีอาการคล้ายโควิด-19 หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจให้แน่ใจว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตรงจุด นอกจากนี้ยาทุกชนิดอาจมีผลข้างเคียง และอาจมีอันตรายหากใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสม ขอบคุณข้อมูล/ภาพ เว็บไซต์ vichaivej-nongkhaem.com