วันที่ 8 เม.ย.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ... หลักการการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คือ การกระตุ้นให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่จำโปรตีนหนามสไปค์จากวัคซีนเข็มก่อนหน้านี้เอาไว้ ให้แบ่งตัวและสร้างแอนติบอดีออกมายับยั้งการติดเชื้อของไวรัส เซลล์ที่ว่ามีชื่อทางวิชาการว่า Memory B Cell หรือ (MBC) หลังจากที่เราได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ร่างกายของแต่ละคนก็จะมี MBC ที่ไปจดจำตำแหน่งต่างๆของโปรตีนหนามสไปค์ที่วัคซีนเข้าไปทำให้ร่างกายรู้จัก และ ไปสร้างแอนติบอดีไปจับไปส่วนของโปรตีนหนามนั้นๆ ส่วนที่ MBC ไปมองเห็นและจดจำจะไม่ยาว ดังนั้น ร่างกายของเราจะมี MBC มากมายที่ไปสร้างแอนติบอดีมาจับกับสไปค์ได้ ประเด็นสำคัญคือ MBC ไปจดจำตำแหน่งส่วนไหนของหนามสไปค์ ถ้าไปจำตำแหน่งที่ไม่สำคัญ แอนติบอดีที่สร้างขึ้นมาไปเกาะกับหนามสไปค์แล้วไม่ได้ไปยับยั้งหรือมีผลต่อการติดเชื้อของไวรัส MBC นั้นก็ไม่มีประโยชน์ กระตุ้นขึ้นมาจากเข็มกระตุ้นกี่ครั้งก็ไม่มีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อ MBC ที่เราอยากได้คือ เซลล์ที่ไปเห็นและจดจำตำแหน่งสำคัญ และ สร้างแอนติบอดีที่ดีมาจับหนามสไปค์ และ ยับยั้งไวรัสไม่ให้ติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้ ยิ่งจับแน่น (High affinity) เท่าไหร่ จึงมีประสิทธิภาพสูง (Potent) เป้าหมายสำคัญของการฉีดเข็มกระตุ้น คือ ไปกระตุ้นให้ MBC เหล่านี้แบ่งตัวเยอะๆ และ สร้างแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพสูงออกมายับยั้งการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากวัคซีนที่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นออกแบบมาจากไวรัสที่ไกลจากโอมิครอนมาก คำถามที่น่าสนใจคือ ร่างกายของเราจะมี MBC ที่สามารถสร้างแอนติบอดีแบบยับยั้งโอมิครอนได้เท่าไหร่ การกระตุ้นแต่ละครั้งโอกาสจะไปเจอ MBC ตัวเก่งๆ ให้สร้างแอนติบอดียับยั้งโอมิครอนได้มีประมาณเท่าไหร่ เป็นคำถามที่น่าสนใจ และ ดูเหมือนงานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยจากฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์ใน Immunity มีคำตอบ ข้อมูลจากคนที่ได้รับวัคซีน mRNA ทั้งติดเชื้อหายแล้ว และ ไม่เคยติดเชื้อมา พบว่า MBC ต่อสายพันธุ์ Wuhan มีสูงถึง 62% ที่สร้างแอนติบอดีแบบจับหนามสไปค์Wuhan แบบแน่นๆ และ แอนติบอดีที่สร้างขึ้นจาก MBC ถึง 56% สามารถจับตำแหน่งสำคัญของสไปค์และยับยั้งไวรัสได้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าภูมิจากวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมจึงสูงมาก เพราะวัคซีนกับไวรัสมีความใกล้เคียงกันมากๆ แต่ในบริบทของโอมิครอน MBC จากวัคซีนที่จับกับสไปค์โอมิครอนได้แน่นมีอยู่ 33% และ แอนติบอดีที่สร้างจาก MBC เหล่านั้นเป็นแอนติบอดีที่มีประโยชน์ ยับยั้งโอมิครอนได้เพียง 13% ซึ่งเกิดจากความแตกต่างกันของวัคซีนและไวรัสที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เราจึงหวังว่า MBC 13% นี้จะถูกกระตุ้นมาพร้อมๆกับ อีก 87% ที่ไม่ค่อยช่วยอะไร จึงเป็นคำอธิบายได้ว่า ภูมิที่กระตุ้นขึ้นมาจะตกลงค่อนข้างไวเพราะ MBC ที่ทำหน้าที่ตรงนี้มีไม่มาก แต่ปริมาณที่ไม่มากนี้ยังเพียงพอต่อการป้องกันไวรัสเข้าสู่อวัยวะสำคัญ ซึ่งการฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเปราะบางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ https://www.sciencedirect.com/.../pii/S107476132200173X...