แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันนี้ (7เม.ย.) ว่า หลังจากที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธานกสทช.) ไปก่อนหน้านี้ เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดหรือ ดีทีเอ็น ผู้รับใบอนุญาตโดยตรงจากสำนักงานกสทช.ว่า ที่ประชุมกสทช. มีการรับทราบหนังสือทั้ง 3 ฉบับที่ยื่นต่อประธานกสทช. เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการดังกล่าวประกอบด้วยฉบับที่ 1 จาก นาย ณภัทร วินิจฉัยกุล คณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) หรือซูเปอร์บอร์ดกสทช. ฉบับที่ 2 จากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และฉบับที่ 3 จากเอดับบลิวเอ็น อย่างไรก็ดีที่ประชุมบอร์ดกสทช.แต่ยังไม่มีการพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวว่า ขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมในวันที่11 เม.ย.นี้ เพราะบอร์ดกสทช.ได้มอบอำนาจให้อนุฯเป็นผู้ดูแลโดยตรงในดีลการควบรวมดังกล่าว "เนื้อหาในหนังสือมีเนื้อหาคัดค้านการควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค และยังกล่าวถึงหน้าที่ของกสทช. ที่มีอำนาจยับยั้งการควบรวม และหากไม่ยับยั้งจะขัดต่อกฎหมายจึงได้มอบหมายให้สำนักงานกสทช. ไปสรุปสาระสำคัญตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ในหนังสือรวมถึงประเมินกรอบเวลาพิจารณาแล้วเสร็จ และส่งกลับมายังคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดซึ่งคาดว่าหลังสงกรานต์จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจน"