สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
“พระพุทธรูปเชียงแสน” มีต้นกำเนิดจากทางภาคเหนือ ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาคเหนือของประเทศไทยนั้น เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลอยู่อาณาจักรหนึ่ง เรียกว่า "อาณาจักรเชียงแสน"
ในอดีต ราวรัชสมัยพระเจ้าอนุรุทมหาราชแผ่อำนาจเข้ามาปกครองเมืองเชียงแสน พระองค์ได้นำเอาพระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน (เถรวาท) อย่างพุกามเข้ามาเผยแผ่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาลัทธิหินยานที่เข้ามาทางประเทศอินเดียฝ่ายเหนือผ่านมอญและพม่า อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนจึงได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะอินเดียสกุลช่างปาละอีกด้วย “ปาละ” นั้น เป็นชื่อราชวงศ์อินเดียที่เคยครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ได้แก่แคว้นพิหารและเบงกอล ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-17 และเป็นราชวงศ์ที่อุปถัมภ์ “พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานนิกายตันตระ” ซึ่งนิยมการใช้เวทมนตร์คาถาเป็นอย่างมาก มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา และได้สร้างพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพและมีพุทธลักษณะที่สำคัญคือ พระรัศมีทำเป็นแบบดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว ขมวดพระเกศาทำเป็นก้นหอยใหญ่ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม ลำพระองค์อวบอูมสมบูรณ์ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิเหนือพระอังสาซ้ายสั้นและปลายแตกเป็นปากตะขาบ นิยมสร้างเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และปรากฏพระบาททั้งสองข้าง อันเป็นพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่มีความงดงามมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะพบที่เมืองเชียงแสน และในสมัยนั้นเมืองเชียงแสนก็อาจจะเป็นเมืองที่สำคัญจึงได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปศิลปะแบบนี้ว่า “พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ของไทย
พระพุทธรูปเชียงแสน ไม่ได้มีจำกัดอยู่เฉพาะที่เมืองเชียงแสนเท่านั้น แต่ได้ขยายขอบข่ายออกไปถึงเมืองเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน และเลยเข้าไปยังเมืองหลวงพระบางและนครเวียงจันทน์อีกด้วย ทั้งนี้เพราะพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งเมืองเวียงจันทน์ ได้เข้ามามีอำนาจอยู่ในนครเชียงใหม่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่ที่มีฝีมือในการสร้างพระพุทธรูป ไปสร้างพระพุทธรูปในเขตเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์ จึงได้เกิดเป็นพุทธรูปศิลปะอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า “พระเชียงแสนลาว” หรือที่เราเรียกกันว่า “พระพุทธรูปแบบเชียงแสนนอกเมือง” เพราะต้นกำเนิดการสร้างอยู่ในประเทศลาว “พระพุทธรูปแบบเชียงแสนลาว” มีอายุเทียบได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ประมาณอายุใกล้เคียงกับ “พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์ 3” หรือสมัยอยุธยา และนอกจากในเขตประเทศลาวแล้ว ยังปรากฏว่ามีการค้นพบพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนอีกในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยทั่วไป อาทิ ในเขตนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานีและขอนแก่น และพระพุทธรูปแบบนี้เป็นต้นแบบฝีมือสกุลช่างปั้นพระพุทธรูปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสมัยต่อมา ซึ่งคิดว่าคงจะได้รับอิทธิพลและรูปแบบการสร้างสืบต่อกันมาตลอดโดยทางลำแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ “พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน” ยังได้รับอิทธิพลและแบบอย่างจากพุทธศิลปะประเทศลังกา คือจากพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างเถรวาทจากประเทศอินเดียฝ่ายใต้ซึ่งเผยแผ่เข้ามาทางภาคใต้ของประเทศไทย จึงได้เกิดเป็นพุทธศิลปะของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์” เรียกได้ว่ามีมากมายหลายสกุลช่าง และได้มีการสืบสานการสร้างตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี ในทรรศนะของนักนิยมสะสมพระบูชา พระเครื่อง จึงได้ให้ ข้อพิจารณาพุทธลักษณะของ “พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน” ไว้ดังนี้
พระเกศ ทำเป็นพระเกศบัวตูม พระศก ทำเป็นขมวดก้นหอย และเม็ดพระศกค่อนข้างเขื่อง พระพักตร์ อวบอูมดูสมบูรณ์ และปรากฏรอยยิ้มเล็กน้อย พระเนตร เป็นแบบเนตรเนื้อ (ไม่ฝังมุก) พระหนุ เป็นรอยหยิก พระวรกาย อวบอ้วนสมบูรณ์ ชายสังฆาฏิ สั้นอยู่เหนือราวนมและแตกเป็นปากตะขาบ ซึ่งจะเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1” ถ้ายาวเลยราวนมลงมาเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 2” และสุดท้ายถ้ายาวลงมาจรดพระหัตถ์ จะเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 3”
อนึ่งคำว่า “สิงห์” ใน “พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน” นั้น ท่านโบราณาจารย์ได้สันนิษฐานที่มาออกเป็นสองนัยด้วยกัน คือ ประการแรก ด้วยความสง่างามอย่างน่าเกรงขามในพุทธศิลปะสมัยเชียงแสนนั้นประหนึ่งพระยาราชสีห์ ซึ่งเรามักจะเรียกกันอย่างสั้นๆ ว่าสิงห์ และอีกประการหนึ่ง น่าจะมาจากคำว่า “สิงหล” ซึ่งเป็นเจ้าตำรับและเป็นแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปคติลังกา อันเป็นต้นแบบพระพุทธรูปในสยามอาณาจักรนั่นก็คือ “พระพุทธสิหิงค์”
การพิจารณา “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1” ที่นิยมนอกเหนือจากการสังเกตชายสังฆาฏิก็คือ การซ้อนของพระเพลาต้องเป็นชนิดขัดเพชร พระบาทหงายขึ้นทั้งสองข้างและมีการเล่นนิ้วพระหัตถ์ (กระดกขึ้นลงอย่างเป็นธรรมชาติ) และที่สำคัญก็คือ ถ้าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 รุ่นแรกๆ ฐานส่วนมากมักจะเป็นฐานเขียง ก่อนที่จะคลี่คลายมาเป็นฐานบัวหรือฐานเทพประจำนพเคราะห์หรือนักษัตร และการเทค่อนข้างหนาเป็นพิเศษ ยิ่งถ้า “ผิวไม่ใช่พระขัด” นั้น หาดูได้ยากมากๆ เพราะถือว่าเป็นศิลปะสุดยอดในสกุลช่างเชียงแสนทีเดียวครับผม


