วันที่ 6 เม.ย.65 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 6 ร่วมเวทีสาธารณะ “เสนอไป-แถลงมา นโยบายทางสังคมของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.” จัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อีก 5 คน ร่วมเวที โดยมีการนำเสนอ นโยบายและประเด็นทางสังคม โดยมีตัวแทนกลุ่มต่างเป็นผู้นำเสนอประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องของกลุ่มสตรีและผู้สูงอายุ ข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน ผู้แทนคนพิการ ผู้แทนกลุ่มเด็กเล็ก ร่วมเสนอปัญหาและนโยบายที่อยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ทำ หลังจากรับฟังนโยบายจากตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับฟังในวันนี้ ในสมัยที่เป็นผู้ว่าฯ ปัญหาบางส่วนได้ทำไปแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างการประสานงาน และบางส่วนก็นโยบายของตนที่จะต้องทำต่อ และทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม และจะนำปัญหาที่ได้รับฟังไปพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่มีการเสนอในเวทีได้พูดถึงประเด็นเรื่อง เด็กเล็กมีเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ว่า ก่อนหน้านี้เด็กวัยเรียนได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารมื้อเช้ากับมื้อกลางวันเพียงแค่คนละ 20 บาท แต่ตนเข้ามาเพิ่มให้เป็นคนละ 40 บาท ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน - 6 ปี ก่อนตนมาเป็นผู้ว่าฯได้คนละ 20 บาท ตนได้มาเพิ่มให้เป็นคนละ 28 บาทแล้ว และกล่าวว่า ตนเคยเป็นเด็กยากจน เคยเรียนโรงเรียนวัด วันนี้จึงต้องหันกลับมามองคนเหล่านี้ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องทำให้เขาได้มีโอกาสเหมือนตนด้วยเช่นกัน ประเด็นกองทุนประกอบอาชีพ สมัยที่เป็นผู้ว่าฯ ได้เพิ่มงบประมาณไปอีกเป็นปีละ 50 ล้านบาท กองทุนประกอบอาชีพคนละ 5,000 บาท เฉลี่ยเขตละ 200 รายและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องครูพี่เลี้ยงใน กทม. เมื่อก่อนจะรับเฉพาะปริญญาตรี แต่ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ระเบียบ โดยปัจจุบันได้รับทั้งปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน ปวส. 10,000 บาท ปวช. หรือ ม.6 ได้เงินเดือน 8,500 บาท ซึ่งได้ทำไปแล้ว หรือผู้สูงอายุที่เมื่อเกษียณอายุไปแล้ว ก็ให้ทำงานต่อได้อีก 5 ปี เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้ยังสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี กลุ่มคนที่เป็นอิสระชน (คนเร่ร่อน) ได้ดูแลทั้งคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ใน กทม. และคนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีไม่มาก พยายามช่วยกันดูแลอยู่อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่อยู่ในอำนาจของ กทม.ก็ได้จัดการแก้ปัญหาในหลายเรื่องไปแล้ว ส่วนที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกทม.พบว่ายังติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย แต่ได้พยายามประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบมาโดยตลอด ถ้าทำให้ถูกกระบวนการและเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.โดยตรง ก็จะสามารถนำส่วนนี้เข้าสู่ระบบได้ แต่ถ้าอยู่นอกเหนืออำนาจของ กทม. ก็ยังเป็นเรื่องที่ กทม.จะต้องประสานงานกับรัฐบาลต่อไป เพื่อทำให้ ...อยากให้พี่น้องประชาชน ให้โอกาสตนอีกครั้ง ว่าคนคนนี้จะทำได้หรือไม่ ส่วนอะไรที่ดีและทำไปแล้ว ยืนยันว่าจะทำต่อไป และจะทำให้ดียิ่งขึ้น ส่วนอะไรที่ไม่ดี ก็ให้บอกมาได้เลย เพราะที่ผ่านมา ตนรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกคน และพร้อมที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนเรื่องคณะกรรมการว่าด้วยแรงงานนอกระบบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ตนเคยคุยกับผู้ที่มีส่วนร่วมและอยู่ในงานวันนี้แล้วหลายครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบและความไม่เท่าเทียม เพราะถ้าทำให้เฉพาะคนในกรุงเทพฯ ก็จะยังไม่เกิดความเท่าเทียม เพราะคนต่างจังหวัดมาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ก็มีเป็นจำนวนมาก โดยที่แรงงานเหล่านี้ไม่ได้โอนทะเบียนบ้านเข้ามา เพราะฉะนั้น รัฐบาลเองก็ต้องเห็นภาพใหญ่ ต้องมองภาพใหญ่ เพราะถ้าทำเฉพาะในส่วนของกรุงเทพฯ ก็จะไม่เกิดความเท่าเทียมกับคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่มีปัจจัยร่วม ซึ่งกำลังแก้ไขอยู่ จริงๆ แล้วที่ผ่านมา ตนได้ทำงานมาแล้วเยอะมากในเรื่องที่คุยกันในวันนี้ และจะทำต่อไปให้ดีขึ้น ...และยังพูดถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมเวทีในวันนี้ด้วยว่า “ขอแถมอีกนิด ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครทุกคน เป็นคนที่มีคุณภาพทั้งหมด ถ้าชอบนโยบายคนไหนก็เลือกคนนั้น มีตัวเลือกเยอะ ถ้ายังไม่ชอบใคร ก็เลือก...อัศวิน” ส่วนเรื่องคณะทำงาน ผู้บริหารกทม.จะมีสัดส่วนของผู้หญิงหรือไม่นั้น ที่ผ่านมา มีทีมผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอยู่หลายคน ยืนยันว่าถ้าได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง จะมีทั้งผู้ประสบการณ์สูง 6 คน คนหนุ่มคนสาว คนรุ่นใหม่ไฟแรง คนวัยทำงานที่มีความคิดก้าวหน้า 6 คน มีคนพิการร่วมด้วย ต้องการให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ซึ่งคิดว่าน่าจะสามารถทำงานสอดประสานกันได้เป็นอย่างดี...และในขณะนี้มีคนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัยที่มีความรู้มาช่วยกัน มีความหลากหลายครอบคลุมครบทุกด้าน และมีมาตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีคนรุ่นใหม่มาช่วยงาน...และจะร่วมกันผลักดันแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เขียนร่างเอาไว้ก่อนที่จะลาออกว่า one stop service จุดเดียวให้จบทุกกระบวนการและยืนยันว่า “ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดภัย สงบสุข และเป็นเมืองที่คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”