นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งตั้งขอสังเกตถึงกระบวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติว่ามีความพร้อมและความรวดเร็วเพียงพอหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีการบริหารจัดการอย่างป็นระบบโดยคำนึงถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง สถานประกอบการ และความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของประชาชนในประเทศ
โดยกระทรวงแรงงาน โดยการนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น มุ่งแก้ปัญหาพร้อมกัน 2 มิติคือ 1.การเปิดให้นำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ มาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ล่าสุดมีการยื่นดีมานด์ขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวคนตามระบบ mou แล้ว 167,961 คน แบ่งเป็นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมา 117,029 คน กัมพูชา 38,933 คน และลาว11,999 คน มีการอนุญาตตามคำร้องและส่งให้ประเทศต้นทางรวม 144,709 คน ซึ่งแรงงานสัญชาติกัมพูชา และลาวมีการทยอยเข้ามามาทำงานตามmouแล้วอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 6 พันคน
อย่างไรก็ดีแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาซึ่งเป็นที่ต้องการของนายจ้างมากที่สุดยังคงติดอุปสรรค ด้านความพร้อมในการจัดส่งแรงงานจากผลกระทบความไม่สงบภายในประเทศของประเทศต้นทาง ซึ่งการนำเข้าแรงงานข้ามชาติถือเป็นความร่วมมือ 2 ฝ่ายทั้งประเทศไทย และประเทศต้นทางของแรงงานเอง ฝ่ายไทยไม่สามารถแก้ไขให้ได้ 2.การผ่อนผันอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติ สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 2,132,469 คน สามารถขออนุญาตทำงานและขออยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเป็นทั้งการรักษาจำนวนแรงงานที่มีอยู่ในประเทศ และเพิ่มจำนวนแรงงานไปพร้อมกัน ในส่วนการตั้ง One Stop Service ณ ประเทศต้นทาง เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะเกี่ยวข้องถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ (เมียนมา ลาว กัมพูชา)
"ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบการที่คิดจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่จ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฏหมาย กรมการจัดหางานมีกระบวนการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU อย่างเป็นระบบ รวมทั้งมาตรการใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก โดยมีการวางแผนให้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวในระบบการทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ.66 ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในวาระต่างๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการและสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย"