ที่ผ่านมาการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยา รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 นักวิจัยต้องดำเนินงานบนความเสี่ยงสูงแยกไวรัส SARS-CoV-2 จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยในประเทศ และเพิ่มปริมาณไวรัสที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีความรุนแรงชนิดนี้ภายในห้องห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (BSL3) ซึ่งประเทศไทยเองมีไม่มากนัก ทำให้การดำเนินงานทำได้ลำบากและล่าช้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนายาและวัคซีนให้ทันต่อการระบาดของโรค และการเตรียมความพร้อมรับมือไวรัสที่มีกลายพันธุ์ตลอดเวลา
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนา “Pseudotyped Virus” หรือ “ไวรัสตัวแทน” ที่มีกลไกในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้เหมือนไวรัสตัวจริง แต่ผ่านการปรับให้มีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มาใช้พัฒนา “ไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19” สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้ผลิตไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19’ จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมได้ทุกสายพันธุ์
“ไวรัสตัวแทนเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากที่ทราบกันดีว่าไวรัส SARS-CoV-2 ใช้โปรตีนตรงส่วนหนามในการจับและเข้าสู่เซลล์ ทีมวิจัยจึงได้นำโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 มาใส่ไว้ในไวรัสอีกตัวหนึ่งซึ่งมีความปลอดภัยและไม่อันตราย โดยไวรัสตัวแทนมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ อันดับแรกคือช่วยให้นักวิจัยสามารถทำงาน “เชิงรุก” ได้ เมื่อมีการค้นพบการกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 นักวิจัยสามารถนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างไวรัสตัวแทนเพื่อใช้ดำเนินงานได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการติดเชื้อของสายพันธุ์นั้นในประเทศแล้วจึงแยกเชื้อออกมาจากผู้ป่วย สองคือ ‘ปลอดภัย’ ไวรัสตัวแทนไม่ก่อให้เกิดโรค นักวิจัยหรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจึงสามารถใช้งานไวรัสตัวแทนในห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลทั่วไปได้
สามคือ “ทดสอบได้รวดเร็ว” ไวรัสตัวแทนสามารถแสดงผลการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ให้เห็นอย่างชัดเจนภายใน 48 ชั่วโมง ต่างจากไวรัสของจริงที่ต้องใช้เวลา 5-6 วัน นอกจากนี้การทดสอบด้วยไวรัสตัวแทนยังทำได้มากถึงครั้งละ 90 ตัวอย่าง ขณะที่การทดสอบด้วยไวรัสของจริงทำได้เพียงครั้งละ 6 ตัวอย่าง สี่คือ “ผลิตได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว” ทำให้มีปริมาณไวรัสมากพอในการทดสอบ ทำให้สามารถทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือ “ลดค่าใช้จ่าย” ในการปฏิบัติงานได้มากถึง 20-30 เท่า”
ดร.อนันต์ กล่าวเสริมว่า ด้วยจุดเด่นของไวรัสตัวแทนที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้นับจากนี้การวิจัยและพัฒนาวัคซีน สูตรการฉีดวัคซีน รวมถึงยารักษาโรคจากไวรัสต่างๆ ของประเทศไทยจะมีความราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้สร้างไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล เพื่อเตรียมรับมือการระบาดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
“ทั้งนี้ที่ผ่านมาไบโอเทคได้นำไวรัสตัวแทนมาให้บริการการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว ทั้งการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดภายในประเทศ การทดสอบสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับบุคคลกลุ่มต่างๆ และการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นในประเทศ อาทิ วัคซีน Chula-CoV-19 วัคซีนใบยา และวัคซีน HXP–GPOVac”
เทคโนโลยีการผลิตไวรัสตัวแทนที่ไบโอเทค สวทช. พัฒนาขึ้นนี้ ไม่เพียงนำมาใช้ได้กับการพัฒนายาและวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังใช้ผลิตไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคชนิดอื่นๆ รวมถึงการป้องกันการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนแบบเชิงรุก ช่วยให้นักวิจัยไทยดำเนินงานสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น