เยาวชนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ช่วยชาวบ้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำนวัตกรรม ความรู้สมัยใหม่ทำจุดเชคอิน สำนึกรักท้องถิ่น ภูมิปัญญา สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน เมื่อเร็วๆ นี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นประธานการประชุมบูรณาการโครงการระหว่าง “โครงการเที่ยวชุมชน ยลวิถี” กับ “โครงการออมสินมีดี ชุมชนวิถีถิ่นไทย” ธนาคารออมสิน โดยกล่าวว่า หลังเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วธ.มีนโยบายนำมิติวัฒนธรรมช่วยเหลือเครือข่ายต่างๆ ทั้งระยะสั้นและยาว โดยเฉพาะโครงการต่อยอดชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร ทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติของจังหวัด เป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปีละ 10 ชุมชน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบขยายให้ชุมชนอื่นๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาโครงการฯ ถือว่าประสบความสำเร็จ สร้างการรับรู้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทางธนาคารออมสินได้มีโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่าง 66 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมพัฒนายกระดับทักษะและขีดความสามารถในการประกอบกิจการของกลุ่มองค์กรชุมชนให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดได้ นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มองค์กรชุมชนมาจัดจำหน่ายต่างๆ ทั้งกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีธนาคารออมสินได้เห็นความสำคัญในแนวทางพัฒนาชุมชนยลวิถี ซึ่งในปี 2564 วธ.ได้ประกาศยกย่องไป 10 ชุมชน โดยเฉพาะที่ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และชมชนคุณธรรมฯ บ้านเก่าริมน้ำประแส จังหวัดระยอง ชุมชนคุณธรรมฯบ้านสามช่องเหนือ จังหวัดพังงา ขณะนี้มีน้องๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากโครงการออมสินข้างต้น นำความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ ลงพื้นที่ไปพัฒนาภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ช่วยเหลือชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว และทางธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาส่งเสริมให้นักศึกษาลงพื้นที่ไปอีก 7 ชุมชนร่วมกับวธ.พัฒนาภูมิทัศน์ จุดเชคอิน ผลิตภัณฑ์ชุมชน โฮมสเตย์ต่างๆ จุดเด่นของชุมชนยลวิถีนั้นเป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ที่สำคัญ วธ.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม เห็นคุณค่าช่วยกันสืบสาน ให้เด็กในชุมชนเล่าเรื่องชุมชนตัวเอง เรื่องดีๆ ที่บ้านฉัน แทรกซึมให้ตระหนัก ภาคภูมิใจ ช่วยกันค้นหาเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนตัวเอง นอกจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชนจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาแล้ว จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทุกด้านด้วย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) และจำหน่ายด้วย” นางยุพา ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าว เครกิตภาพ วธ.