วันที่ 5 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า ...
ทะลุ 492 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 683,755 คน ตายเพิ่ม 2,235 คน รวมแล้วติดไปรวม 492,272,263 คน เสียชีวิตรวม 6,178,361 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 84.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.55
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 44.69 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.65
...สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก
...ไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากการระบาดช้ากว่าประเทศอื่น
จากฐานข้อมูลของ Worldometer ดูใน 10 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อสะสมสูงสุดของเอเชีย จะพบว่าทุกประเทศมีกราฟการระบาดขาลงชัดเจน ยกเว้นประเทศไทย
แม้จะลองพิจารณาดู 10 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อรายวันสูงสุดของเอเชียเมื่อวานนี้ ก็จะพบลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวของไทยเราเป็นสถิติการติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) ที่รายงาน แต่ยังไม่นับรวม ATK ในแต่ละวัน
ลักษณะข้างต้นสะท้อนให้เราตระหนักว่า การระบาดในประเทศยังเป็นไปอย่างรุนแรง ต่อเนื่อง และมีโอกาสลากยาวดังที่เคยวิเคราะห์ อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องธรรมชาติของขาลงที่จะยาวนานกว่าขาขึ้น ร่วมกับผลจากนโยบายและมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถจัดการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ร่วมกับการประชาสัมพันธ์สร้างภาพให้คนมองว่าเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดาจึงส่งผลให้พฤติกรรมการป้องกันไม่เคร่งครัดเพียงพอ ทำให้เห็นลักษณะการระบาดที่ไม่สามารถกดลงได้เหมือนประเทศอื่นๆ และคาดว่าจะส่งผลให้ไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการระบาดช้ากว่าประเทศอื่น
นอกจากนี้ ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงและความยืดเยื้อของการระบาดครั้งนี้ หากป้องกันตัวไม่ดีพอ สถานการณ์จะแย่ลงได้ และจะเกิดผลเป็นโดมิโน่ เนื่องจากระยะถัดไปคือมีการเปิดเรียนในเดือนพฤษภาคม
...อัพเดตงานวิจัย Long COVID
1. ปัญหา Long COVID กับโรคจิตเวช
ทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นและสวีเดน ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 763 คน ในช่วงมีนาคมถึงมิถุนายน 2564
พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน และประสบปัญหา Long COVID (Post COVID conditions) นั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติทางจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า ฯลฯ มากกว่าทั้งกลุ่มที่เคยติดเชื้อแต่ไม่มี Long COVID และกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ ถึง 2.44-3.48 เท่า
2. ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหา Long COVID ในอเมริกา
การศึกษาจาก Long COVID Initiative ชี้ว่าขณะนี้อเมริกามีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID อย่างน้อย 22,000,000 คน โดยมีถึง 7,000,000 คนที่ส่งผลบั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิต (Disabling Long COVID)
มีการคาดประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระดับบุคคล จากการสูญเสียรายได้จากการทำงาน การสูญเสียเงินออม และค่าใช้จ่ายในการรักษาตนเอง พบว่ามีมูลค่ากว่า 386,000 ล้านดอลล่าร์
ข้อมูลต่างๆ ข้างต้น ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและครอบครัว เพราะการติดเชื้อไม่ได้จบแค่การป่วยไม่ป่วยในช่วงแรก แต่มีโอกาสทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังระยะยาว
สงกรานต์นี้...อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อตัวคุณและครอบครัวเถิดครับ
อ้างอิง
1. Matsumoto, K., Hamatani, S., Shimizu, E. et al. Impact of post-COVID conditions on mental health: a cross-sectional study in Japan and Sweden. BMC Psychiatry 22, 237 (2022).
2. A Solve Long Covid Initiative White Paper. 5 April 2022.