วันที่ 4 เม.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า...
ทะลุ 491 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 777,342 คน ตายเพิ่ม 1,846 คน รวมแล้วติดไปรวม 491,562,847 คน เสียชีวิตรวม 6,175,764 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.63 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.55
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.03 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 44.96
...สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก
...เมื่อวานนี้ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 97 คน เทียบกับทั่วโลกแล้วถือว่าสูงมาก เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ รัสเซีย อิตาลี และฮ่องกง ทั้งนี้ถือว่าติดอันดับท็อปไฟฟ์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ระบาดมา หากจำไม่ผิด
สะท้อนให้เราหันมาประเมินกันให้ดีว่า ไอ้ที่ว่า Omicron อ่อนนั้น เป็นการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดมาในระลอกก่อน แต่สุดท้ายแล้วสถานการณ์จริง มันหนักหนาสาหัส เพราะติดง่ายแพร่ง่ายกว่าเดิมถึง 7 เท่า ทำให้จำนวนการติดเชื้อจริงในสังคมนั้นมากมาย ป่วยกันเยอะ และมีจำนวนคนที่ป่วยรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งมีทั้งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว
นอกจากนี้ คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ติดเชื้อซ้ำอีกได้ด้วย
การตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดจริงว่าหนัก และป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงมีความสำคัญยิ่งนัก
มิฉะนั้นปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID จะถาโถมเป็นระลอกเรื้อรัง ส่งผลกระทบยาวนาน ทั้งต่อผู้ป่วยเอง รวมถึงครอบครัว และประเทศ
...การติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ใช่อยู่แค่ทางเดินหายใจ แต่กระจายไปทั่วร่างกาย (systemic infection)
งานวิจัยล่าสุดจากประเทศสเปน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อระดับสากล BMC Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 3 เมษายน 2565
ติดตามผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 29 คนที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการรักษา โดยที่ 55% มีประวัติติดเชื้อโดยมีอาการเพียงเล็กน้อย
สาระสำคํญที่พบคือ สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมไวรัสในเลือดของผู้ป่วยได้ถึง 45%
ทั้งนี้สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมในเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระ อย่างใดอย่างหนึ่งในผู้ป่วยได้ 51%
ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องนั้น ราวครึ่งหนึ่งรายงานว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก
ผลการวิจัยนี้ แม้กลุ่มตัวอย่างจะไม่มากนัก แต่ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มีลักษณะที่กระจายไปทั่วร่างกาย (systemic infection) ไม่ได้ติดเชื้อจำกัดในระบบทางเดินหายใจเท่านั้น
ซึ่งหากเราติดตามองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่เจาะลึกศึกษาภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID และพบหลักฐานที่ทำให้นำมาซึ่งสมมติฐานการเกิดโรคหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องการตรวจพบไวรัสที่ยังคงติดเชื้อแฝงอยู่ในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ (persistent infection), การติดเชื้อแล้วทำให้อวัยวะหรือระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม (dysfunction from viral damage), การเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังต่อเนื่อง (chronic inflammation), การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody), และการเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Dysbiosis)
ด้วยข้อมูลข้างต้น ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
คนที่ติดเชื้อแล้ว ก็ยังต้องป้องกันตัว เพราะติดเชื้อซ้ำได้ และแม้รักษาหายแล้วในช่วงแรก ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหา Long COVID จึงควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง หากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา
อ้างอิง
Tejerina, F., Catalan, P., Rodriguez-Grande, C. et al. Post-COVID-19 syndrome. SARS-CoV-2 RNA detection in plasma, stool, and urine in patients with persistent symptoms after COVID-19. BMC Infect Dis 22, 211 (2022).