แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ หรือ NEW TELCO MARKET คือ ตลาดการสื่อสารที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการดิจิทัลจากหลากหลายประเทศ ผู้ให้บริการเสียงผ่านแอปพลิเคชั่น ให้บริการส่งข้อความผ่านแอป ไม่ว่าจะเป็น LINE, WECHAT, FACEBOOK ให้บริการประชุมผ่านแอป และให้บริการคอนเทนต์ผ่านมือถือ เช่น NETFLIX, DISNEYPLUS, VIU เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมใหม่นี้ ผู้นำตลาดมีทั้งจากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอีกหลายประเทศ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมดั้งเดิมไปแล้ว โดยผู้ประกอบการใน NEW TELCO MARKET นี้มักเรียกกว่า OTT (Over-the-Top) ถูกเรียกในภาษาทั่วไปว่า “value added” ซึ่งหมายถึงบริการที่สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ที่สนุกสนานกับการทำรายได้
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานรัฐออกมากำกับ เนื่องจากรูปแบบบริการค่อนข้างใหม่ หารายได้โดยอิสระ และยังมีเรื่องการจัดเก็บภาษี ที่ ณ วันนี้ยังไม่สามารถจัดเก็บได้ เนื่องจากบริษัทแม่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ รายได้มหาศาลของบริษัทเหล่านี้จึงไม่ถูกควบคุม สามารถนำกลับประเทศโดยไม่ต้องจ่ายภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันด้วยยาก เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมและมีต้นทุนทางภาษีที่สูงกว่า นอกจากนี้ OTT มีเนื้อหาที่ยากต่อการควบคุม แต่ไม่ค่อยมีนักวิชาการออกมาเรียกร้อง รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล ที่ต้องเร่งออกกฎเกณฑ์ ปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้ OTT อยู่ในกติกาเดียวกันในการแข่งขัน
ทุกบริการที่ผู้เล่น OTT ให้บริการจะใช้ข้อมูลมหาศาล ยังคงขี่อยู่บนหลังผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการเครือข่าย โดยไม่สามารถทำรายได้เพิ่ม แต่ต้องขยายช่องสัญญานรองรับการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ไม่สามารถเก็บรายได้เพิ่มได้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว มิเช่นนั้น จะไม่สามารถยืนอยู่ได้ออย่างยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่งไปแข่งกับตลาดที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีปลาหลายชนิดที่แข่งในบ่อ อย่านับแค่ปลาที่ชื่อว่า เอไอเอส ทรู ดีแทค เพราะยังมีปลาเร็วที่กินปลาทุกชนิด อย่างเช่น Google, Facebook, Line, YouTube, WeChat, WhatsApp, Netflix, Skype และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมและพร้อมกินปลาทุกชนิด เพราะโครงสร้างรายได้ในตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) นั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก
โครงสร้างรายได้ของตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) รายได้ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม คือ รายได้จาก SMS ที่วันนี้รายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับ Line ผู้ให้บริการที่มาชิงรายได้ไปจาก SMS แย่งรายได้ ทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค และ NT นอกจากนี้ยังมีบริษัทจากต่างประเทศ อย่างเช่น WeChat, Whatsapp, Facebook Messenger, Telegram, Line, Android Messages และ iMessage (Apple) ที่มาเอาส่วนแบ่งรายได้การส่งข้อความไปเกือบทั้งหมด ดังนั้นคนที่พูดว่าค่ายมือถือแข่งกัน 3 ราย คงต้องหาคำตอบหน่อยว่า จะให้ mobile operator เอาชนะบริษัทต่างชาติที่มาแย่งรายได้อย่างไร นักวิชาการควรมาช่วยหาคำตอบว่า บริษัทไทยจะสู้กับบริษัทที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ไม่ต้องจ่ายไลเซนส์ได้อย่างไร?
รายได้ที่สองของตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) ที่ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาเป็นผู้นำตลาด คือ รายได้จากการโทร (Voice revenue) ในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่ค่ายมือถือแข่งกัน เพราะวันนี้ผู้คนโทรศัพท์ไปต่างประเทศโดยใช้ไลน์ โทรในประเทศผ่านเน็ต หรือผ่านแอปของบริษัทต่างประเทศมากมาย เช่น Line call, Google Hangout, Viber, Skype WeChat, WhatsApp ค่ายมือถือจึงไม่มีรายได้จากการโทร ขณะที่ต้องลงทุนเพิ่มใน 5G แต่ได้เงินค่าบริการเท่าเดิม ปล่อยให้รายได้ไปตกอยู่กับผู้ให้บริการ Over-the-Top ถึง 90% โดยกำไรทั้งหมดไหลไปต่างประเทศ วันนี้ค่ายมือถือจึงเป็นเพียง Dump pipe ให้บริษัทต่างชาติเหล่านี้หารายได้ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี
รายได้ที่สามของตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) จาก VDO Streaming ดาต้า คอนเทนต์ (Content) ที่ใช้ทรัพยากรอินเทอร์เน็ตมหาศาล การเข้ามาของ Netflix, Viu, Disney+ และอีกหลายราย ทำให้ค่ายมือถือต้องขยายท่อสัญญาณรับการดูหนังออนไลน์ แต่ลูกค้าจ่ายรายเดือนให้กับเจ้าของคอนเทนต์ เรียกว่าแทบไม่เหลือเนื้อติดกระดูกให้ค่ายมือถือ ที่เป็นเพียงถนนให้ผู้เล่นต่างชาติมาหาเงิน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่บริษัทไทยจะลุกขึ้นปลดแอก ปรับตัวเองขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีแข่งกับต่างประเทศ
ตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) ยังมีผู้เล่นใหม่ที่ชื่อว่า บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม อย่างเช่น สตาร์ลิงค์ เป็นต้น โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2020 อิลอน มัสก์ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต Starlink ในระดับเบตา กับผู้ใช้งานในสหรัฐฯ และบางประเทศแล้ว หากนับจนถึงปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของ Starlink มากกว่า 100,000 คนทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะยิงดาวเทียม ภายในปี 2024 หรืออีก 3 ปีจากนี้ โดยตั้งเป้าปล่อยดาวเทียมสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตดังกล่าวเพิ่มเป็น 4,425 ดวง ระหว่างนี้จึงต้องเดินหน้าปล่อยดาวเทียมออกสู่วงโคจรอย่างต่อเนื่องในแต่ละเฟส ภายใต้การปฏิบัติภารกิจโดย SpaceX ส่วนเป้าหมายสูงสุดของ Starlink คือการปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรให้ครบ 42,000 ดวง
ดังนั้น ในตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) หน่วยงานภาครัฐ ต้องเริ่มหาแนวทางในการปกป้องผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในตลาด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน จำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีมากขึ้น และเป็นผู้เล่นดิจิทัลจากประเทศมหาอำนาจ มาแข่งกันในตลาดไทย ที่ยังไม่มีการกำกับที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และยากจะควบคุม เนื่องจากเป็นบริการผ่านทางอากาศ และ สำนักงานอยู่ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รูปแบบตลาดโทรคมนาคมใหม่ (NEW TELCO MARKET) จะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองและวิเคราะห์ว่า ผู้ชนะในตลาดใหม่นี้จะเป็นอย่างไร และการปรับตัวของผู้ประกอบการเดิมสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีนั้นจะทันต่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่