จากกรณีเมื่อวันที่27 มี.ค.65 สื่อนำเสนอการเสียชีวิตของนายโม แซะ (Moe Sat) อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา โดยสภาพศพอยู่ภายในถังน้ำมันพลาสติก ขนาด 1,000 ลิตร อยู่ในห้องเครี่องของเรือลากกุ้ง ซึ่งจอดเทียบท่ารอขึ้นคานของอู่เรือแห่งหนึ่งใน ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้การตรวจสอบและการรายงานเป็นไปตามหลักมาตรฐาน ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง โดยเฉพาะปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ตามที่ข่าวเสนอไปแล้วนั้น ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8, พล.ต.ต.สาธิต พลพินิจ ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ตรวจสอบการเสียชีวิตของนายโม แซะ โดยเร่งด่วน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.65 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) กล่าวว่าได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ประกอบกับจากการสอบปากคำพยานทั้งหมดและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบคดี ผู้เสียชีวิตย้ายมาทำงานที่เรือได้ประมาณ 15 วัน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดมาก่อน โดยจากคำให้การทั้งหมดมาตรวจสอบวิเคราะห์ร่วมกับกล้องวงจรปิดแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จึงเชื่อได้ว่าผู้เสียชีวิตได้เข้าไปบริเวณชั้นล่างของเรือซึ่งเป็นห้องเครื่อง หลังจากนั้นได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในถังน้ำมัน โดยได้ปิดฝาด้วยวิธีการปิดสลับด้าน (ซึ่งฝาถังสามารถปิด-เปิดได้ทั้งจากด้านในและด้านนอก) ซึ่งผู้เสียชีวิตอยู่ภายในถังน้ำมันจนหมดอากาศหายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ประกอบกับเส้นทางเข้าออกห้องเครื่องภายในเรือลำที่เกิดเหตุมีทางเข้า - ออกได้เพียงช่องทางเดียวโดยมีกล้อง CCTV ที่สามารถบันทึกเสียงได้โดยไม่มีเสียงการต่อสู้หรือการทะเลาะวิวาทและเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากภายในห้องเครื่องของเรือแต่อย่างใด มีกล้อง CCTV สามารถยืนยันการเข้า – ออก ของบุคคลได้อย่างชัดเจน ประกอบกับสภาพของศพผู้เสียชีวิตไม่มีร่องรอยบาดแผลการถูกทำร้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “เมื่อพบการเสียชีวิตของแรงงานในภาคประมงต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจว่าหากมีเหตุเกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายจะมีความเป็นระบบ ชัดเจน สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเพิ่มความรวดเร็วในการเยียวยาความเสียหายให้กับครอบครัวตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้นยังเป็นการขับเคลื่อนให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยอย่างเต็มที่ เพื่อเลื่อนอันดับการค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watchlist เป็น Tier 2” ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในภาคการประมง สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือwww.humantrafficking. police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook. com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป