บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ความรู้เบื้องต้นการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ “ข้าราชการ” หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่ง เพราะมี “องค์กรกลางบริหารงานบุคคล” หรือ “องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ” (CPO : Central Personnel Organization/Agency) เป็นของตนเอง เหมือน “สำนักงานข้าราชการพลเรือน” หรือ ก.พ. “การบริหารงานบุคคล”(เดิม) หรือ “การจัดการหรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์” (ใหม่) มิได้เน้นบริหารคนอย่างเดียวมองว่า คนคือ ทรัพยากรที่เป็น “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ที่สำคัญยิ่ง เป็นแนวทางเศรษฐศาสตร์ ที่จำแนกทุนออกเป็น “ทุนของทรัพยากรมนุษย์” ที่ประกอบด้วย ทักษะที่สะสมมา ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนบุคลิกภาพ และทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นที่จับต้องไม่ได้อาทิสัมพันธภาพส่วนบุคคลในสังคม การได้รับการยอมรับในแวดวง ฯลฯ ที่จะทำให้บุคคลนั้นสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเอง องค์กร และสังคมได้ “การสรรหา และการคัดเลือก” (Recruitment and Selection) เป็นหน้าที่พื้นฐานของ “การบริหารงานบุคคล หรือการจัดการทรัพยากรมนุษย์” (Personnel Management or Human Resource Management : HRM) เป็นด่านแรกของการได้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาในองค์กร ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรในยุคปัจจุบัน การบริหารงานบุคคล เป็นการจัดการบุคคล โดยจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้คนดี คนเก่ง มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงาน เกิดประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล กับงาน ซึ่งในหลักสูตรการคัดเลือกบุคลากรแยกเป็น 3 อย่าง คือ สอบความสามารถทั่วไป (สอบภาค ก) สอบความสามารถเฉพาะ (สอบภาค ข) และสอบความเหมาะสมสำหรับตำแหน่ง หรือ การสอบสัมภาษณ์ (ภาค ค) ที่มีการแปรผันในคะแนนแตกต่างกันมาก การสรรหา (Recruitment) หมายถึง กระบวนการในการแสวงหาและจูงใจจากผู้สมัครงาน การคัดเลือก (Selection) หมายถึง กระบวนการที่องค์การใช้เครื่องมือต่างๆ มาดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจำนวนมากให้เหลือตามจำนวนที่องค์การต้องการ มีเกณฑ์กำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาให้ได้คนมีคุณสมบัติ ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ อปท. (พ.ศ.2545) “การคัดเลือก” หมายถึง การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ขอเรียกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น) ในระดับที่สูงขึ้น ให้ดำเนินการได้ 5 วิธี ดังนี้ (1) การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น (2) การคัดเลือก กรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ใน อปท. (3) การสอบคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นในสายงานเดียวกัน หรือ ในต่างสายงาน ทั้งตำแหน่งผู้ปฏิบัติงาน หรือตำแหน่งผู้บริหาร (4) การคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นในระดับควบหรือนอกระดับควบ สำหรับตำแหน่งผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์หรือตำแหน่งประเภทวิชาชีพ ประเภทวิชาการ (5) การคัดเลือก เพื่อรับโอนมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหาร แต่สำหรับ “ลูกจ้างประจำ” ของ อปท. ให้ใช้หลักการเดียวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง “พนักงานจ้าง” ของ อปท. (พ.ศ.2547) ด้วย แต่พนักงานจ้างใช้คำว่า “การสรรหา และการเลือกสรร” แทนคำว่า “การคัดเลือก” ข่าวทุจริตการสอบบริหารท้องถิ่นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ ข่าวตัวแทนพนักงานท้องถิ่น 54 คนที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดสอบสายงานบริหารท้องถิ่น (เทศบาล)เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้ร้องเรียนให้กระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรีวันที่ 21 มีนาคม 2565 อ้างว่า กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใสหลายประการ เช่น ความผิดปกติในการสอบ ในกระดาษคำถาม-คำตอบแบบปรนัย มีการให้คะแนนอัตนัยเกินจากคะแนนเต็ม การขอดูข้อสอบมีลักษณะปกปิด ซ่อนเร้นกระดาษคำตอบ อันแสดงถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ขัดกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 เงื่อนงำข้อสงสัยว่ามีการทุจริตเรียกรับเงินจะจับผู้ต้องหาสาวไปถึงตัวการใหญ่ได้หรือไม่ เพราะเครือข่ายทุจริตสอบ ระบบจิ้มก้อง ระบบกินเมือง มันวิวัฒนาการเสมอเป็น “เครือข่ายจุดเชื่อมต่อ Connection” ที่กว้างขวางใหญ่โตและแข็งแรง ทำนอง “ลูบหน้าปะจมูก” ที่จับได้ยาก คนพาจับก็มัวหาทางออกให้ตนเองและพวกพ้อง แถมลากยาวให้ฝ่ายร้องอ่อนแรงไปเอง ท้ายที่สุดเมื่อผลการสอบสวนออกมาผู้กุมอำนาจจะฟังคนใกล้ชิดมากกว่า นี่ยังไม่รวมการทุจริตเชิงนโยบาย เช่น การซิกแซกตบแต่งตัวเลขงบบุคคล 35% 40% การเลิกจ้างพนักงานไปเป็น “พนักงานจ้างเหมา” (บริการ) ทำให้ยอดค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลง เพื่อให้ประเมินกรอบโครงสร้างอัตรากำลังผ่าน ข่าวทุจริตการสอบแข่งขันหรือการสอบบรรจุ ปัญหาทางปฏิบัติในเทคนิคเดิมๆ ในการสรรหาบุคลากรที่นำไปสู่การทุจริตสอบรับราชการ หรือบุคลากรของรัฐ โดยเฉพาะท้องถิ่น เริ่มแต่ต้นทาง “มีผู้เสนอ ผู้รับสนอง” “ฮั้วกัน” ไม่มีหลักฐานใบเสร็จเป็นหลักสำคัญ เป็น “จุดคุ้มทุน” ของแหล่งรายได้(ที่นำเงินมาซื้อ) แรงจูงใจส่วนบุคคล ที่ลงตัวแห่ง “การสมยอม” ยกตัวอย่างเช่น (1) อปท.สอบรับพนักงานจ้างตามภารกิจ/ทั่วไป ยิ่งเปิดกรอบรับเพียง 1 ตำแหน่ง 1 อัตรา แสดงว่า มีคนของเขาแล้ว วิธีการคือจ่ายเงินตามอัตราที่ต้องการ เมื่อได้รับเงินแล้ว ก็จะนำข้อสอบจริง(รั่ว)พร้อมเฉลยไปให้คนสอบอ่านล่วงหน้าก่อนเข้าสอบ 1 วัน ค่อนข้างที่จะตรวจสอบและจับได้ยาก แต่ห้ามทำคะแนนเต็ม หรือการเปลี่ยนไส้กระดาษคำตอบ ที่คนอื่นไม่มีทางสู้คะแนนได้ (2) หาก อปท.มีอัตรารับจำนวนมาก เช่นการสอบบรรจุข้าราชการจะมีการเรียกคนที่จ่ายเงินเพื่อสอบได้จริงมาเปิดเซฟเฮาส์ติว เอาข้อสอบจริง(รั่ว)มาติว 10-30 คน/ห้อง ปกติจะเปลี่ยนไส้กระดาษคำตอบไม่ได้ เพราะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ AI ตรวจ นอกจากนี้คะแนนการสอบสัมภาษณ์ สอบปากเปล่าจะมีคะแนนสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันมา ผู้สมัครสอบทุกคนล้วนมีคุณวุฒิตามที่ประกาศรับสมัครแล้ว ถือว่าได้รับการฝึกฝน บุคลิกมาครบถ้วนสมบูรณ์ ถือว่ามีความรู้ความสามารถเหมาะสมแล้ว คะแนนสัมภาษณ์เป็นต้นเหตุแห่งการทุจริต ให้คะแนนตามอำเภอใจ เด็กใคร ควรมีการกำหนดช่วงห่างการให้คะแนนไว้ไม่ให้แตกต่างกันเกิน 4-6 คะแนน เป็นต้น ควรเรียงลำดับตามคะแนนภาคทฤษฎีเป็นหลักก่อน การสัมภาษณ์ไม่จำเป็นนัก ส่วนการสอบสมรรถภาพ เพียงบางตำแหน่ง เช่น ทหาร ตำรวจ ปลัดอำเภอ ป่าไม้ ดับเพลิง ที่มีประกาศหลักเกณฑ์มาตรฐานยุติธรรมอยู่แล้ว เช่น วิ่งว่ายน้ำ ลุกนั่ง ดึงข้อ กี่นาที กี่ครั้ง ได้คะแนนเท่าใด นอกจากนี้ยังมีข่าวลือการร้องเรียนสอบบรรจุหรือ “การสอบแข่งขัน” ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ว่ามีการจ่ายเงิน 6-7 แสน เพื่อให้สอบผ่านและได้รับการบรรจุ เทคนิคก็เดิมๆ คือ มีการวิ่งเต้นกันภายใน และนัดคุยกันระหว่างผู้เสนอ ผู้รับสนอง ลักษณะนี้คือเอาข้อสอบ(ที่รั่วจากคนภายใน) มาอ่านก่อนเข้าสอบ ที่ร้ายไปอีกขั้นคือ “การแก้ไขคะแนนผู้เข้าสอบ” เช่นแก้คะแนน เพิ่มคะแนนให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของการสอบ หากผู้เข้าสอบความจำได้มากก็มีโอกาสได้คะแนนสอบมาก ว่ากันว่าการสอบท้องถิ่นเป็นเช่นนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนปี 2546 แม้ปัจจุบันให้ส่วนกลางสอบก็ยังมีข่าวการทุจริต อปท. ต้องยอมรับความจริงและหาความจริงเพื่อการแก้ไขให้ได้ คนสอบได้สุจริต เพราะเก่ง ทำข้อสอบได้เองก็มี แต่หากมีคนทุจริตเยอะกว่ามันก็ใช้ไม่ได้ หมายความระบบการสอบหละหลวมมีช่องโหว่ช่องว่าง ทำให้มี “ขบวนการเรียกรับหัวคิวการสอบ” คนอยากได้ตำแหน่งจึงยอมเสียเงินเพื่อให้ได้รับการบรรจุ ข่าวล่าสุดเมื่อการสอบแข่งขันท้องถิ่นโดย ก.กลางปี 2564 ว่าขบวนการนี้ จะให้นายหน้า หรือหน้าม้ามาตระเวนสอบถาม ทั้งทางครอบครัว และตัวผู้เข้าสอบแข่งขันตามสนามสอบต่างๆ ว่า หากจ่ายเงิน 6 แสนบาท ก็จะช่วยให้สอบติดและได้บรรจุตามตำแหน่งที่ต้องการได้ ตัวอย่างข่าวการทุจริตสอบแข่งขันท้องถิ่นที่ปะทุหนักเกิดในปี 2557 อบต.ในพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ได้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล ถึงจำนวน 31 แห่ง ดำเนินการจัดสอบโดยมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ ม.ราชภัฏกาฬสินธุ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เทคนิคการทุจริตมาแนวใหม่คือ การแก้ไขคะแนนสอบตามชอบใจ เพื่อปรับเปลี่ยนลำดับที่ในการสอบให้ได้ที่ลำดับต้นๆ เพื่อให้ได้รับการบรรจุ ผลก็คือ มีบางรายที่สอบตกข้อเขียนภาค ก แต่สอบผ่าน ทำให้คนที่สอบได้คะแนนจริงถูกลดลำดับที่สอบได้ลงมา และได้รับการบรรจุแต่งหลังทีหลังคนที่สอบตก ข่าวนี้ดังมาตลอดระยะเวลา 7-8 ปีแต่ก็ยังมีพฤติกรรมที่ซ้ำๆ เหมือนเดิมอีก ไม่เข้าใจว่าสังคมไทยเกิดอะไรขึ้น ข้อสังเกตช่องโหว่ ข้อพิรุธสงสัยในกระบวนการสอบ(การสรรหา) มีข้อสังเกตต่างๆ มากมาย ในกระบวนการสรรหา ทั้งกรณีสอบแข่งขัน หรือ การสอบคัดเลือก ในทั้งสองกรณีที่คล้ายเหมือนกัน เช่น การกำหนดหัวข้อ วิชาความรู้ที่จะนำมาออกข้อสอบ เพื่อวัดความรู้ความสามารถ ในตำแหน่งนั้น (1) เกี่ยวข้องกับมาตรฐานตำแหน่งหรือไม่ (2) เป็นไปโดยเปิดเผย(ประกาศ) หรือไม่ อย่างไร กระบวนการทำงานของคณะกรรมการควบคุมการออกข้อสอบ คณะกรรมการจัดทำข้อสอบ คณะกรรมการเก็บรักษาข้อสอบ คณะกรรมการจัดการสอบ คณะกรรมการตรวจข้อสอบ มีความสัมพันธ์การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่ทำการออกข้อสอบ จัดพิมพ์ข้อสอบ เก็บรักษาข้อสอบ จัดทำการสอบ ตรวจข้อสอบ มีมาตรการ ขั้นตอนอย่างไร การทำหน้าที่ของกรรมการสอบหละหลวมเพียงใด หรือไม่ อาจทำให้คนจ้องจับผิด เห็นจุดผิด จุดข้อสงสัย ทำให้คนภายนอกไม่เชื่อมั่นในระบบการสอบของท้องถิ่น ข้อสงสัยในผลคะแนนที่ตรวจของเครื่องตรวจฯ “กบกระโดด” “กบสไลด์” คือข้อแตกต่าง เรื่องคะแนน ที่มันต่างกันมาก หรือคะแนนเป็น 0 (ศูนย์) กรณีเครื่องตรวจไม่ตรวจ (eject) หรือ กรณีการฝนระบายรหัสกระดาษคำตอบผิด กรณีจ้างมหาวิทยาลัยดูสัญญาว่าจ้างทำอะไรบ้าง ก.กลางไปกำกับ ร่วมตรวจสอบควบคุมอย่างไร มีช่องว่างรอยต่อหรือไม่ รอยต่อโหว่หรือไม่ กรรมการสอบกลุ่มใด เกิดช่องโหว่ การออกข้อสอบ จะไม่ระบุตัวบุคคลบอกว่าใครเป็นคนออกข้อสอบ บอกเพียงว่า ระดับอาจารย์ออกข้อสอบ ซึ่งต้องออกมารวมกันมีจำนวนข้อสอบที่มากกว่าข้อสอบที่นำไปสอบจริง และยังมีกรรมการชุด กลุ่ม หรือมหาวิทยาลัย เป็นผู้คัดเลือกข้อสอบอีก มีการฟิวส์ข้อสอบ การเก็บข้อสอบในห้องมั่นคงอย่างถูกต้องหรือไม่ (เป็นหลักการเดียวกันกับ การจัดเก็บบัตรเลือกตั้งในจัดการเลือกตั้ง) กรณีมีการเข้ารหัสลับของบุคคล เช่น การเปิด “ห้องมั่นคง” (ห้องเป็นคลังข้อสอบ) เหมือนการเปิดตู้นิรภัย (กำปั่น) ต้องทำตามแนวทาง แบ่งผู้ถือรหัสเป็นชั้นๆ เพื่อตรวจทาน ไม่มอบรหัสให้คนเดียวทำ ข้อสอบต้องเก็บในห้องมั่นคง เพราะข้อสอบมีจำนวนเอกสารที่มากกว่าเงิน ไม่สามารถเก็บไว้ในตู้นิรภัยได้ กุญแจล็อกห้อง ก็จะมีสายยูล็อกด้วยกุญแจหลายดอก ถือคนละดอก และมีการฟิวส์ประตูห้องด้วยกระดาษกาวบาง เซ็นทับด้วยลายมือคณะกรรมการพร้อมถ่ายรูปเก็บภาพ ตอนทำงานด้วย การเปิดห้องเปิดฟิวส์ก็จะมีกรรมการเป็นพยาน และถ่ายภาพก่อนและกำลังเปิดด้วย การรวบอำนาจการสอบไปไว้ที่ส่วนกลางและประเด็นข้อสงสัย ปัญหาคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 กรณีการสอบแข่งขัน การคัดเลือก การสอบคัดเลือก เป็น “การรวบอำนาจการสอบแข่งขันและสอบคัดเลือก” อปท.ไปไว้ส่วนกลาง แล้วยังมีกรณีที่ ก.ถ. เห็นว่า ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ขัดกับ ประกาศ ก.ท. เรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้พนักงานเทศบาลได้รับเงินเดือน พ.ศ.2558 อีกด้วย ซ้ำร้ายเป็นการดึง “พวกเครือข่ายทุจริตสอบ” เข้าไปในส่วนกลางที่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับ “จุดเชื่อมต่อ” (Connection) ของกลุ่มคนเหล่านี้เลย เพราะคุ้นชินกัน “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” รู้วิธีส่วยบรรณาการ รู้ทางเงินทอน ทำให้มีการหมุนเวียนสะพัดเงินนอกระบบที่ผิดกฎหมาย สีดำ สีเทามากยิ่งขึ้น ภาพเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการซื้อเสียงเลือกตั้งในโอกาสอันใกล้นี้ ถึงแม้จะจับได้ แต่ก็สาวไม่ถึงตัวการใหญ่ ในเมื่อคนเข้ามาในระบบท้องถิ่นเข้ามาโดยไม่สุจริต จึงนิสัยไม่ดี แล้วอย่าหวังว่าท้องถิ่นจะเจริญรุดหน้า มีข้อสงสัยตามประสาคนที่ไม่เชื่อมั่นในระบบการสอบท้องถิ่น เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมามีการซื้อขายตำแหน่ง “กรณีสอบแข่งขัน” เช่น (1) มี “นกต่อ” เชื่อมโยงการเรียกรับซื้อขายตำแหน่งหรือไม่อย่างไร ใครคือนกต่อ (2) จ่ายเงินกันหนักหรือไม่ เท่าใด หลักหมื่น หรือแสน (3) การสอบแข่งขันมีพวกที่ไม่เสียเงินมีหรือไม่ (4) มีการแก้คะแนนหรือไม่ เพิ่มคะแนนคนสอบตกหรือไม่ เพิ่มคะแนนกันอย่างไร มีการจัดลำดับที่ที่สอบได้กันอย่างไร (5) คะแนนสัมภาษณ์มีการกำหนดช่วงคะแนนห่างระหว่าง ผู้ได้คะแนนสูงสุดกับ ผู้ได้คะแนนต่ำสุดหรือไม่ (6) กรรมการส้มภาษณ์เอามาจากหน่วยงานใด มีมาตรฐาน มีการกำหนดเกณฑ์ดุลพินิจอย่างไรหรือไม่ (7) การจ่ายเงินสด หรือโอนบัญชี จ่ายกันกี่รอบ มีจ่ายรอบสองหรือไม่ คือ ก่อนสอบ หลังสอบ ก่อนบรรจุ (8) ก. จังหวัด เจ้าหน้าที่จังหวัด และ อปท.เจ้าของบัญชี แบ่งส่วนแบ่งเงินหัวคิวกันอย่างไร เพราะ ตามแนวทางของ ป.ป.ช.จะแบ่งกลุ่มผู้ทุจริตเพียง 2 กลุ่ม คือ (8.1) กลุ่ม ก.จังหวัดกับพวก และ (8.2) กลุ่ม ก.จังหวัดกับพวก (9) ผวจ. รอง ผวจ. รู้เห็นการเรียกรับเงิน และมีส่วนในการรับเงินหรือไม่ ใครเอาเงินไปให้ ไม่ละอายใจเลยเหรอ (10) วงเงินหมุนเวียนสะพัดในการสอบแต่ละ อปท. ประมาณเท่าใดถึงหลักกี่ล้าน (11) กระดาษคำตอบปรนัย ใครเก็บ ใครทำลาย จะทำลายเมื่อใด (12) ข้อสอบปรนัยใช้เครื่องคอมตรวจ มีมาตรฐานหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรว่า คะแนนที่ออกมาจากคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มีการแก้ไขคะแนน เป็นกระดาษคำตอบจริงของผู้เข้าสอบ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งข้อสงสัยดังกล่าวก็เหมือนๆ คล้ายกันกับการสอบคัดเลือกเช่นกัน การนำความจริงมาตีแผ่ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบเป็นเพียงหนทางหนึ่งเพื่อสร้างความโปร่งใสในการสรรหาบุคลากรอันเป็นต้นธารของการได้คนดีมีฝีมือมีคุณธรรม (Merit) เข้ามาสู่ระบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เป็นหน้าที่ของคน อปท. และผู้เกี่ยวข้องทุกคน หรือว่าคนในสังคมมันเอาแต่ได้ทุกวิถีทาง “ปากท่องโปร่งใส ข้างในว้าวุ่น ยุคมือถือสากปากถือศีล” ไว้ใจคนยาก อย่างไรก็ตาม การทุจริตจัดสอบมิใช่จำกัดวงอยู่เฉพาะที่ อปท.เท่านั้นเพราะวงแคบไป ไม่ถูกต้อง อาจเป็นข้อมูลสะท้อนที่เป็นผลร้ายต่อสถานะ อปท.ที่จะถูกส่วนกลางหรือผู้กำกับดูแล “ครอบงำ กินรวบ ตีรวบ จำกัดอำนาจ” ให้ย่ำแย่ลงไปอีก จำเป็นต้องโยงใยไปถึงต้นตอสาเหตุด้วย เพื่อป้องกันการกินรวบจากส่วนกลางที่เห็นๆ อยู่ซึ่งหน้าทุกวันนี้ การเรียกรับเงินเพื่อให้สอบผ่านและได้รับการบรรจุแต่งตั้ง เช่น การปลอม แก้คะแนน โดยไม่มีหลักเกณฑ์ฯ การให้คะแนนข้อสอบแบบมั่วๆ เป็นคดีปกครอง ส่วนจะเรียกรับเสียเงิน ถือเป็นคดีอาญาทุจริตฯ เนื่องจากคน อปท.คือ กลไก (Mechanism) คืออนาคตสำคัญของประเทศชาติ หากเอากลไกที่บิดเบี้ยวไปใช้เครื่องจักรของ อปท. มันจะกลายเป็นเครื่องที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำผิดเพี้ยน ผลลัพธ์จะเกิดอะไรขึ้นลองคิดดู