ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล “คนเราแม้จะเกิดมาชุ่ย ๆ แต่เมื่อเติบโตไปเราก็ควรจะเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้กับชีวิตของเรา” เป็นคำพูดที่ผมจำได้ติดหู จากปากของครูจิตราที่เธอยังพูดต่อไปว่า ”ถ้าเป็นไปได้เราก็ควรทำชีวิตของเราให้ดีที่สุด” ครูจิตราเป็นรุ่นพี่ของผมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิสิต เป็นกรรมการค่ายรัฐศาสตร์ ที่มีกิจกรรมออกไปพัฒนาชนบทในทุกฤดูร้อนที่ปิดเทอมใหญ่ พอจบแล้วเธอก็ไปทำงานในมูลนิธิของฝรั่ง ที่เรียกในสมัยนี้ว่า NGO ทำให้ได้เดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก มูลนิธินี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนา “คนชายขอบ” ที่ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงว่าเป็นคนในที่ห่างไกลความเจริญ แต่ยังหมายถึงคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและบริการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม ตั้งแต่คนยากไร้ คนต่างด้าว ไปจนถึงคนจรจัด และคนพิการ ผมรู้จักครูจิตราในฐานะครูใหญ่โรงเรียนชายขอบที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งโรงเรียนนี้ดำเนินงานโดยมูลนิธิของฝรั่งดังกล่าว ตอนนั้นเป็น พ.ศ. 2547 ผมได้ไปสอนนักศึกษาในหลักสูตรปริญญาโท ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่จังหวัดตาก เราใช้ศูนย์ที่โรงเรียนสรรพวิทยาคม ในอำเภอแม่สอด เป็นสถานที่สอน ซึ่งผมเดินทางโดยรถทัวร์จากสถานีหมอชิตในเย็นวันศุกร์ ไปถึงที่แม่สอดประมาณ 6 โมงเช้าวันเสาร์ (ตอนนั้นมีเครื่องบินไปลงที่สนามบินแม่สอดแล้ว แต่ระเบียบของมหาวิทยาลัย ยังไม่ให้เบิกค่าโดยสารโดยเครื่องบิน ถ้าอาจารย์คนไหนอยากเดินทางโดยเครื่องบินก็ต้องออกเงินส่วนเกินเอาเอง) จากนั้นก็ไปอาบน้ำอาบท่า ทานอาหารเช้าที่โรงแรม จน 8 โมงกว่า ๆ ก็ไปที่โรงเรียน แล้วเริ่มสอนในเวลา 9 โมงเช้า จนถึงบ่าย 3 โมงก็เสร็จ เช่นเดียวกันกับวันอาทิตย์ แต่พอผมสอนเสร็จในบ่ายวันอาทิตย์ ความที่ไม่ค่อยได้ออกมาเปิดหูเปิดตาที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัดตาก เมื่อนักศึกษาท่านหนึ่งซึ่งมีรีสอร์ทอยู่ในอำเภอพบพระ ใกล้ ๆ แม่สอด ชวนให้ผมไปแวะเที่ยวชมและพักค้างคืนก่อนเดินทางกลับในเย็นวันจันทร์ ผมก็ตกลงในทันที เพราะวันจันทร์ไม่มีงานหรือการประชุมอะไร และผมก็ได้พบกับครูจิตราที่นั่น นักศึกษาที่เป็นเจ้าของรีสอร์ทเมื่อรู้ว่าผมเป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็บอกว่าที่อำเภอพบพระนี้มีคนดังอยู่คนหนึ่ง เป็นศิษย์เก่า “สิงห์ดำ” เหมือนกัน แล้วพอรุ่งขึ้นเช้าวันจันทร์เขาก็พาผมไปพบกับครูจิตราที่อยู่ออกไปจากตัวอำเภอไม่ไกลนัก โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ มี 3 ห้องเรียน แบ่งตามอายุของเด็ก คือห้องแรกเป็นเด็กเล็ก อายุ 3-6 ขวบ เรียกว่าห้องอนุบาล ห้องต่อมาเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อายุ 7-12 ขวบ เรียกว่าห้องประถม และห้องสุดท้ายเป็นเด็กที่กำลังเป็นวัยรุ่น อายุ 13 ปีขึ้นไป จนถึง 17-18 ปี เรียกว่าห้องมัธยม แต่ละห้องมีนักเรียนเพิ่มลดตามฤดูกาล ระหว่าง 20-40 คน มีครูแต่ละห้อง 2-3 คน ครูแต่ละคนสอนได้หลายวิชา รวมถึงไปสอนสลับห้องได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีครูจากต่างประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย หมุนเวียนกันมาสอนปีละ 1-2 คน ทั้งยังมีครูที่เป็นจิตอาสามาช่วยสอนในบางโอกาส บางคนก็เคยเป็นครูหรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการแล้วมาช่วยสอน หรือ “เล่นกับเด็ก” โรงเรียนนี้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้มีจิตกุศลจำนวนหนึ่ง โดยมีมูลนิธิที่ครูจิตราทำงานอยู่เป็นผู้ประสานงานและบริหารงาน การสอนใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการของไทย โดยนักเรียนแต่ละคนสามารถไปสอบเทียบในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่อยู่ในตัวอำเภอแม่สอดนั้นได้ ดังนั้นนักเรียนแต่ละคนอาจจะใช้เวลาเรียนไม่เท่ากัน บางคนเรียนเก่ง ปีหนึ่ง ๆ สอบได้ 2 ระดับ หรือ 2 ชั้นก็มี แต่ที่ลำบากก็มีมาก เพราะส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนที่เป็นต่างด้าว เป็นผู้อพยพหนีภัยสงครามมาจากพม่า รวมถึงชาวเขาที่ไม่เคยเรียนภาษาไทย นักเรียนเหล่านี้ก็จะมาเรียนเขียนอ่านภาษาไทยให้พอใช้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะไปเรียนสอบไต่ระดับไปตามความสามารถ แต่ว่าหลายคนก็มีปัญหา เพราะเรียนได้สักระยะก็ต้องเลิกเรียน ถูกส่งตัวกลับประเทศพม่าบ้าง พ่อแม่มารับไปเรียนที่อื่น หรือรับกลับไปทำงาน ทำไร่บ้าง รวมถึงบางคนที่ได้ไปเรียนยังต่างประเทศ เพราะมีแขกต่างประเทศที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนมารับไปอุปการะ รวมทั้งแขกในประเทศไทยที่จิตกุศลก็รับไปอุปการะบ้าง และก็มีไม่น้อยที่หนีไปจากโรงเรียนโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ใด ซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่มีปัญญาที่จะไปติดตามให้กลับมาเรียน ครูจิตราพาผมชมโรงเรียนพอสังเขป แล้วมานั่งคุยกันจนใกล้ถึงเที่ยงผมก็ลาออกมา จากนั้นในเวลาที่ผมมาสอนหลักสูตรปริญญาโทนี้อีกหลายครั้งที่จังหวัดตาก ผมก็จะแวะไปหาครูจิตราอยู่บ่อย ๆ บางครั้งผมได้ลาราชการอีก 2-3 วัน เพื่อตามครูจิตราเข้าไปในหมู่บ้านชาวเขาและชายแดนพม่า เพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่น แต่ว่าสิ่งที่ได้มากลับเป็น “ปรัชญาชีวิต” ที่ผมได้เรียนรู้จากครูจิตรา ที่ผมเรียกว่า “สมบูรณ์แบบนิยม” ซึ่งครูจิตราเรียกด้วยภาษาอังกฤษว่า “Perfectionism” ตอนที่ผมได้พบกับครูจิตราครั้งแรก ผมเรียกเธอว่า “พี่” ทั้งที่เป็นด้วยเหตุผลด้านอายุและความเป็นรุ่นพี่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่เธอบอกว่าควรเรียกเธอว่า “ครู” จะดีกว่า เพราะเธออยากให้คำเรียกว่าครูนี้กระตุ้นเตือนใจ ให้เธอระลึกอยู่เสมอว่าเธอกำลังทำงานอะไร และมีจุดมุ่งหมายอะไรในชีวิต การเรียกว่าพี่แม้จะดูใกล้ชิดเป็นญาติสนิทกันในสังคมแบบไทย ๆ แต่นั่นมันจะทำให้เธอมองคนอื่นเป็นอะไรที่ด้อยกว่า หรือยังอ่อนแอต้องคอยดูแลเลี้ยงดู และไม่มีความหมายอะไรมากกว่านั้น ซึ่งเธอบอกว่า “ความเป็นครู” จะสร้างความสัมพันธ์ที่เหนือกว่านั้น และมีความหมายมากกว่า เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของปรารถนาดีต่อกัน อยาก ช่วยเหลือกัน เพื่อคนที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นจะได้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงที่จะได้ออกไปเป็นคนดีในสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพของสังคมในด้านต่าง ๆ นั้นด้วย ดังนี้บทบาทของครูก็คือ “ผู้พัฒนาชีวิตและสังคม” ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่เธอภูมิใจมาก และได้ปวารณาตัวที่จะทำหน้าที่ครูนี้ให้ดีที่สุด ผมจำได้ว่าวันที่ครูจิตราพาผมเยี่ยมชมโรงเรียนและได้ไปพบปะพูดคุยกับนักเรียนในห้องเรียนทั้ง 3 ห้อง โดยไปคุยกับนักเรียนในห้องมัธยมเป็นห้องแรก พอเข้าไปที่ห้องที่มีนักเรียนอยู่ราว 20 กว่าคน ในห้องจัดเก้าอี้เป็นวงกลมให้นักเรียนนั่งหันหน้าเข้าหากัน ด้วยความเคยชินผมก็เดินเข้าไปที่กลางวงกลมนั้น และยืนพูดทักทายสวัสดีกับเรียนทั้งวงกลมนั้นในทันที สักครู่ก็มีมือของใครมาสะกิดที่ไหล่ หันไปดูก็คือครูจิตรานั่นเอง เธอบอกให้นักเรียนคนหนึ่งไปยกเก้าอี้ที่มุมห้องมาสองตัว มาวางแทรกที่ด้านหนึ่งของวงกลม แล้วก็ให้ผมนั่งลงพร้อมกับเธอ จากนั้นการสนทนาก็เป็นไปตามปกติ สักสิบห้านาทีก็เปลี่ยนไปคุยกับห้องประถมและห้องอนุบาลตามลำดับ โดยครูจิตราให้ผมยกเก้าอี้มานั่งคุยกับนักเรียนเหมือนกับที่คุยกับนักเรียนห้องมัธยมนั้น ซึ่งพอคุยเสร็จทั้ง 3 ห้อง เราก็มาคุยกันที่ห้องพักครู เธอคงสังเกตว่าผมมีความสงสัยอะไรบางเรื่อง จึงเริ่มสนทนากับผมว่า “อาจารย์ทวีคงสงสัยสิว่า ทำไมเราจึงต้องนั่งคุยกับนักเรียนทุกคนในทุกห้อง” “นี่แหละที่เขาเรียกว่าความเท่าเทียมและการให้เกียรติด้วยความเสมอภาคกัน”