เล่าความหลังสยามรัฐ/ทองแถม นาถจำนง: ภาพของคนที่ “เบื่อ” ง่าย คือเบื่อรัฐบาลที่ยึดติดอำนาจ (11) สุกัญญา สุดบรรทัด และเมื่อเป็นรัฐบาลที่ชอบทำตนเป็นเจ้าใหญ่นายโตด้วยแล้ว ก็ดูเหมือนจะยิ่งน่า “เบื่อ”หนักขึ้นสำหรับคึกฤทธิ์ การที่คนเราจะคิดเช่นนี้ก็ดูจะไม่แปลกประหลาดอะไรนัก เพราะคนเราก็ล้วนมีความเบื่อกันคนละหลายรูปแบบ และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบรัฐบาลที่เกาะเก้าอี้อย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า คนทั่วไปเมื่อเบื่อแล้ว ก็มักจะยอมทนกล้ำกลืนความน่าเบื่อนั้นไปจนกว่าตายจากกันไปข้างหนึ่ง แต่คึกฤทธิ์เมื่อเบื่อแล้ว เขามักจะมีปฏิกิริยา อาจจะสลัดคนที่ตนกำลัง “อุ้ม” กระเด็นตกไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว และพลังของเขารุนแรงเสียด้วย เขากล่าวว่า รัฐบาลใดก็ตามที่มีเสถียรภาพมากเกินไปจนไม่มีทางที่จะล้มแล้วในที่สุดคนเขาเบื่อเพราะนั่งเป็นรัฐบาลยันอยู่อย่างนั้น...เบื่อพวกเจ้าใหญ่นายโต ครั้นพอคนพวกนี้จากไป มีคนอื่นเข้ามานั่งแทนที่อีก ในความเบื่อนั้น คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาแทนที่คนที่คนรุ่นเก่าก็ยังไม่ได้ละทิ้งลักษณะวางมาดเช่นเดิม เหมือนกับจะรักษาความเป็นเจ้าใหญ่นายโตเช่นนั้นไว้ตลอดไปไม่ให้ใครยื้อแย่งไปได้ ซ้ำพวกที่ขึ้นมามีอำนาจใหญ่ๆ ยิ่งดูจะมีทีท่าเป็นศักดินาเสียยิ่งกว่าเก่า มีความเป็นอยู่ที่หรูหราเสียยิ่งกว่าขุนนางสมัยเก่า จะไม่เป็นต้นเหตุแห่งความน่าเบื่อเสียกระไรได้ เด็กหนุ่มก็มีความเบื่อหน่าย เพราะคณะผู้ก่อการมาก็ยึดครองคล้ายว่าท่านไม่มีวันจะออกไป คนที่ถูกเบื่อมา อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กระพระนครสวรรค์ เจ้าพระยายมราช เหล่านี้หายไปแล้ว คนอื่นเข้ามาแทนที่ในความเบื่อ เบื่อหลวงประดิษฐ์ เบื่อหลงพิบูลฯ พระยาพหล ฯ เบื่อทั้งนั้น ผมรู้สึกว่าท่านเข้ามา ดูจากท่าทางกิริยาทีท่านปฏิบัติท่านก็ไม่ผิดจากเก่า พูดตรงๆ พวกนี้เป็นขุนนางเก่า พอได้ครองแผ่นดินมาดเสนาบดีมาดอะไรก็ออกมา มาดอัครเจ้าพระยาเสนาบดีก็ออกมา เราเห็นก็ต้องกราบต้องไหว้ ต้องเคารพนบนอบแบบเดียวกับที่ต้องทำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเบื่อหน่ายก็ต้องเกิด สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อ้างว่าเป็นสมัยศักดินานั้นเทียบกับสมัยประชาธิปไตยแล้ว ผมคิดเอาเองว่าท่านผู้ก่อการเป็นศักดินายิ่งกว่าศักดิยาเก่าอีก เพราะวงศ์ท่านจำกัดเหลือเกิน ท่านมีกันไม่กี่คน เมื่อมีเงินมีทองร่ำรวยขึ้นมา ความเป็นอยู่ของท่านหรูหราหลือเกิน ที่ใกล้เคียงกับรัชกาลที่ 6 คือที่ทำเนียบจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอะไรชอบกลคล้ายกันอยู่มาก ท่านจอมพล ป.จะพูดจาก็เหมือนเจ้าพระยาราราฆพ ซึ่งเป็นคนใหญ่คนโตสมัยนั้น จอมพล ป. ถูกตำหนิ และถูกเพ่งเล็งอย่างมากมายในเรื่องที่เอาเอาภาษีของราษฎรไปซื้อความสุขส่วนตัว “ปัญหาประจำวัน” (2 ส.ค. 2500) มีคนเขียนมาถามเรื่องแปลกและพรรคพวกสร้าง “วัง” ไว้เป็นสิบๆ แห่ง และคอลัมน์ “สักวา” ก็กล่าวถึงเศรษฐีเก๊ที่สร้างคฤหาสน์ไว้เป็นจำนวนมาก คอลัมน์ “อะไรก็ได้” โดย “ตาหมอหลอ” ได้กล่าวถึงนักการเมืองที่เอาเงินหลวงไปถลุงเล่นในการบำเรอส่วนตัว อาทิ ค่าเลี้ยงดูปูเสื่อในการหาเสียงบ้าง ซื้อรถยนต์บ้าง ซื้อบ้านขนาดปราสาทบ้าง และที่น่าเบื่อที่สุดก็คือ ความยึดติดในอำนาจถึงกับจะให้ลูกเมียของตนสืบทอดมรดกทางการเมืองต่อไป ดังเช่นมีคนเขียนมาถามว่า หม่อมคิดว่าใครจะได้เป็นนายกฯคนต่อไป คึกฤทธิ์ได้ตอบในเชิงกระแทกกระทั้นท่านผู้หญิงละเอียดที่ลงเล่นการเมืองว่า คือ “ล.พิบูลสงคราม” ส.ส. นครนายก คึกฤทธิ์เห็นความสำคัญของผู้แทนราษฎร เขาเห็นว่าประชาชนควรนับถือผู้แทนมากๆ เพราะเป็นตัวแทนของประชาชนมาร่วมมือร่วมแรงกันทำงานการเมือง และควรให้โอกาสผู้แทนราษฎรทำงานนานๆ จะได้มีบารมีมานานๆ คึกฤทธิ์ใช้คำว่า “บารมี” บ่อยๆ เมื่อกล่าวถึงการยอมรับนับถือจกประชาชนแต่เขาไม่เห็นว่าคนที่มีบารมีนั้นจะเป็นคนดีเสมอไป เสนาบดีสมัยก่อนก็มีจำนวนมากมาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ในคนจำนวนมากนี่ก็มีชั่วบ้างดีบ้าง ใช่ว่าจะดีไปหมด ที่โกงก็มีที่กินก็มี แต่อาศัยที่การเสนอข่าวหรือการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ซู่ซ่าโด่งดังอย่างสมัยนี้ เรื่องความเสียหายต่างๆ จึงดูเงียบ พวกขุนนางสมันก่อนไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งได้สะสมบารมีมามาก จึงดุเหมือนว่าเป็นคนดี แต่พวกผู้แทนที่ประชาชนเลือกขึ้นมานั้น กลับเป็นผู้ที่ถูกรุมโจมดีมากที่สุด “ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะว่าการมาสู่ความเป็นใหญ่ในทางการเมืองนั้น มาได้ด้วยทางลัด เป็นการกะทันหัน ไม่มีเวลาที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นที่นับถือได้” มันก็ดูจะผิดหลักประชาธิปไตยที่บุคคลสำคัญที่สุดคือผู้แทนราษฎรควรจะเป็นที่คารวะเหมือนกับในระบอบประชาธิปไตย แต่เรากลับไม่เคารพเครื่องมือของระบอบประชาธิปไตย กลับ “ไพล่ไปนับถือเอาพระวัดร้างคือพวกพระน้ำพระยาเก่าๆ แก่ๆ อย่างนั้นเอง” ทั้งหมดนี่คัดมาจาก “เก็บเล็กผสมน้อย” (17 กันยายน 2493) ตอนนั้นคึกฤทธิ์ ยังมีศรัทธาในสถาบันผู้แทนอยู่มาก แม้ตัวของเขาจะพึ่งลาออกจากผู้แทนเพราะเห็นพฤติกรรมันไม่สู้น่าศรัทธาของคนเหล่านั้นก็ตาม ในขณะเดียวกันเขาก็เสียดดี เย้ยหยัน จอมพล ป. แม้ในเบื้องต้นจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีปรากฏทั่วไปในบทความ ในการตอบปัญหาประจำวัน และในงานวรรณกรรม “โจโฉ นายกตลอดกาล” จากจอมพล ป. ผ่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเขาไม่ได้แตะต้องมากนัก มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นเพราะสฤษดิ์มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง ทั้งๆ ที่สฤษดิ์ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มี การตั้งพรรคการเมือง จับกุมคุมขังนักการเมืองนักหนังสือพิมพ์และปัญญาชนฝ่ายค้านเป็นจำนวนมาก ในสมัยจอมพลถนอม คึกฤทธิ์กลับวิพากษ์วิจารณ์สถาบันผู้แทนในขณะนั้น โดยคอลัมน์หน้า 5 โดยสยามรัฐเขียนเรื่องน้าหนอมเอาเหี้ยกับแร้งมาผสมพันธุ์จนเกิดพันธุ์ใหม่เรียกตัวสหัปมงคล เรื่องนี้เขียนเมื่อจอมพลถนอมก่อตั้งพรรสหประชาไทย