วันที่ 31 มี.ค.65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 43) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Onmicron) ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วจนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ ซึ่งบรรดาแพทย์ และหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้แนะนำและเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสียงและกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) อันจะช่วยลดอัตราความเสี่ยง จากการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคได้ ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว รัฐบาล โดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเตรียมพร้อมกำหนดเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้เหมาะสม กับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดแบบกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสาน ประเพณีและวัฒนธรรมไทยร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ ระดับต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ ข้อกำหนดนี้ ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการ ควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 4 มกราคม 2565 ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรม การรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนก ตามพื้นที่สถานการณ์ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และมาตรการ เฝ้าระวังเพื่อควบคุมการระบาดของโรคในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนด ดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ข้อ 3 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วราชอาณาจักรเป็นกรณีเฉพาะรองรับ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนที่จะเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับภูมิลำเนาควรได้รับ วัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดเพื่อลดอัตราการแพร่โรคและการติดเชื้อรุนแรงต่อบุคคล ที่มีภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะการเข้าเยี่ยมเยียน กราบไหว้ พบปะผู้สูงอายุ ญาติพี่น้อง หรือกลุ่มเปราะบาง และแนะนำให้ประเมินความเสียงสังเกตอาการของตนเอง หรือใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับ การวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง การพบปะ หรือการเข้าร่วม กิจกรรมรวมกลุ่ม และขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเตรียมความพร้อม โดยเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเอง และบุคคลในครอบครัว ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อการจัดกิจกรรม เทศกาลสงกรานต์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้ เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) พื้นที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะหรือพื้นที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ ให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน จัดสถานที่และดำเนินกิจกรรมภายใต้ มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้ ก.การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเล่นน้ำหรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้ ข.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม ค.ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่ จัดกิจกรรม ง.ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ หรือพื้นที่จัดกิจกรรม จ.ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน (2) ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการ ระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม (3) สำหรับการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้ โดยให้ ศปก. ในพื้นที่ที่ตั้งของชุมชนนั้นๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาอนุญาต และต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับแนวทางและมาตรการที่ในข้อกำหนดนี้ด้วย (4) สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการ กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามการดำเนินมาตรการของผู้ประกอบการ และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่และการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและ ป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด หากพบว่าการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ผ่อนคลายให้สามารถ ดำเนินการได้นี้ มิได้ปฏิบัติตามหรือย่อหย่อนการดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ที่ทางราชการกำหนดซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน ให้ดำเนินการตักเตือนและ ให้คำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไป เพื่อกำกับและเฝ้าระวังการระบาดของโรค ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประเมินความเสี่ยงและสังเกตอาการ ของตนเองในช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการภาคเอกชน สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อดำเนินมาตรการให้เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงานได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี