สาธารณสุขบุรีรัมย์ ร่วมกับหลายหน่วยงาน เร่งฉีดวัคซีนประชาชนทุกกลุ่มให้ครอบคลุม ตั้งเป้าเข็ม 3 ไม่น้อยกว่า 6 แสนคน หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ลดความรุนแรงและอัตราการตาย รองรับการประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
วันนี้ (30 มี.ค.65) สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับหลายหน่วยงาน เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งนอกจากประชาชนจะสามารถรับบริการวัคซีนได้ที่ รพ.ทั้ง 23 อำเภอ และ รพ.สต.ทุกแห่งแล้ว ยังมีการจัดเจ้าหน้าที่ออกให้บริการในเชิงตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกเดินทางไปรับบริการที่ รพ. ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปฉีดวัคซีนให้ถึงที่บ้าน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการบริการต่างๆ เช่น พนักงานร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ และกลุ่มอาชีพที่จะต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 600,000 คน ภายในเดือน มิ.ย.2565 ที่จะถึงนี้ เพื่อหวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการเตรียมพร้อมรองรับการประกาศโควิด เป็นโรคประจำถิ่น ตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป
ทันตแพทย์ จีรศักดิ์ ทิพย์สุนทรชัย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า จังหวัดบุรีรัมย์พร้อมขานรับนโยบายของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งแห่งชาติ ที่มีมติเห็นชอบปรับโควิด-19 ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งแนวทางหลักที่จะดำเนินการ คือ เรื่องวัคซีน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทุกกลุ่มไม่ต่ำกว่า 600,000 คน โดยในระยะแรกจะฉีดให้กับกลุ่ม 608 ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง หรือหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงกลุ่มที่ประกอบอาชีพด้านการบริการต่างๆ ที่ต้องพบปะผู้คน โดยลอตแรกคาดว่าจะดำเนินการฉีดเข็ม 3 ให้ได้วันละ 10,000 คน
ดังนั้น ก่อนสงกรานต์ก็น่าจะฉีดได้ประมาณ 200,000 คน ซึ่งหากดำเนินการได้ตามแผนเชื่อว่าจะฉีดได้ครบ 600,000 คนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก่อนถึงวันที่ 1 ก.ค.2565 ที่จะประกาศโรคประจำถิ่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ยังได้เน้นการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงข้อดีของการฉีดวัคซีน รวมถึงรณรงค์เชิญชวนให้มารับวัคซีนอย่างครอบคลุมมากที่สุด
ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลก็มีความพร้อมทั้งสถานพยาบาลที่มีอยู่ในทุกอำเภอ รวมถึงบุคลากร ที่จะดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งหากดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ ก็มั่นใจว่าบุรีรัมย์มีความพร้อมรองรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น