วันที่ 29 มี.ค.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ... คำถามนึงที่นักไวรัสวิทยาที่กำลังติดตามการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติของไวรัสโรคโควิด-19 ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้คือ อะไรเป็นสาเหตุให้ไวรัสอย่าง BA.2 ถึงแพร่กระจายได้ไวกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะโอมิครอนตัวที่ครองพื้นที่ได้ก่อนอย่าง BA.1 หรือ BA.1.1 และ ที่สำคัญคุณสมบัติการแพร่กระจายแตกต่างกันชัดมาก สังเกตได้จากสถานการณ์ตอนนี้ที่การตรวจ ATK เป็นบวกพบได้กับคนรอบตัวเป็นรายวันเลย จากสมมุติฐานเดิมที่เคยตั้งไว้คือ ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณหนามสไปค์ทำให้จับโปรตีนตัวรับแน่นขึ้น หรือ หนีภูมิได้ดีขึ้น แต่ข้อมูลวันนี้ ผมยังไม่เห็นออกมาแสดงว่าความแตกต่างดังกล่าวระหว่าง BA.1 และ BA.2 จะเอามาอธิบายได้ พูดง่ายๆคือ ไวรัสทั้งสองสายพันธุ์จับโปรตีนตัวรับได้ดีพอๆกัน และ หนีภูมิได้พอๆกัน แล้วอะไรทำให้ BA.2 วิ่งไวกว่า BA.1 ขนาดนี้ ความเป็นไปได้คือ การกลายพันธุ์นอกโปรตีนหนามสไปค์ครับ วันนี้เริ่มชัดขึ้นจากการค้นพบสายพันธุ์ย่อยของ BA.2 ที่เริ่มเพิ่มการแพร่กระจายเป็นวงกว้างใน Scotland เรียกสายพันธุ์นี้ว่า "BA.2.8" โดยข้อมูลที่เทียบการแพร่กระจายกับ BA.2 เดิม BA.2.8 ดูเหมือนจะวิ่งไวกว่า BA.2 ปกติประมาณ 34% และ ไวกว่า BA.1.1 ถึง 110% BA.2.8 มีหนามสไปค์เหมือนกับ BA.2 ครับ ความแตกต่างอยู่ที่การกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งบนโปรตีนตัวเล็กๆที่ชื่อว่า ORF3a คือตำแหน่งที่ 9 (T9K) และ 31(A31T) จากประสบการณ์ส่วนตัวผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้น่ากังวลครับ สาเหตุคือ เราไม่รู้จัก ORF3a ว่าหน้าที่ของโปรตีนนี้ทำอะไรกันแน่ การศึกษาโปรตีนที่เราไม่รู้จักหน้าที่ชัดเจนจะยากมาก เพราะจะเดาทางไวรัสไม่ออก ถ้า BA.2.8 แพร่กระจายได้ไวอย่างที่ Scotland จริงในทุกที่ที่ไวรัสระบาด ไวรัสตัวนี้จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นครับ และ คงมีอะไรใหม่ๆมาอีกแน่ เพราะวัคซีนเราทำอะไร ต่อการเปลี่ยนแปลง หรือ ชะลอการเปลี่ยนแปลงของ ORF3a ไม่ได้เลย...หวังว่า BA.2.8 จะเป็นไวรัสที่โดนคุมได้ไม่แพร่ออกมาไวนะครับ