บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ยุทธการแหวกหญ้าให้งูตื่น ข่าวเมื่อ 21 มีนาคม 2565 ตัวแทนคนท้องถิ่นครึ่งร้อยบุก “มหาดไทย-ทำเนียบฯ” จี้ตรวจสอบการสอบสายงานบริหาร สงสัยการจัดสอบไม่โปร่งใส เป็นข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เพราะพวกเขาอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการจัดสอบสายงานบริหาร รวมประมาณ 54 คน และทราบว่ามีคนร้องเรียนและฟ้องคดีเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่ปลายปี 2564 แกนนำข้าราชการท้องถิ่นอ้างว่ามีจำนวนถึง 400 -500 คน แม้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ข่าว มท.1 ตอบกระทู้สดในสภาผู้แทนราษฎรยืนยันกระบวนการออกข้อสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นว่าการสอบคัดเลือกรัดกุม เป็นไปเป็นตามขั้นตอนและระเบียบราชการ โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการตรวจแทนบุคคล จุดไฮไลต์เรื่องนี้คือ เมื่อ 1 มีนาคม 2565 ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งบัญชีสอบปลัดสูงเทศบาล ซึ่งในวันเดียวกันนี้ ก.จังหวัดต่างๆ ได้เห็นชอบแต่งตั้งให้ปลัดสูงดำรงตำแหน่งและเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่แล้วจำนวน 18 ราย จากคำสั่งทุเลาการบังคับฯ ศาลปกครองนครศรีธรรมราชดังกล่าว ทำให้บัญชีสอบปลัดเทศบาลสูงต้องรอการดำเนินการแต่งตั้งไว้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีตำแหน่งว่างก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือปลัดสูงจำนวน 18 รายที่เดินทางไปรับตำแหน่งแล้วในวันเดียวกับที่ศาลปกครองฯ มีคำสั่งทุเลาการบังคับฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จากกรณีเจ้าหน้าที่รวมตัวกันแล้วไปยื่นหนังสือร้องเรียนร้องทุกข์นี้ ก่อนมีกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ (ก่อนปี 2543) มักใช้ได้ผลดี แต่ภายหลังมีกฎหมายดังกล่าวแล้ว การมีพฤติการณ์ร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้ จะไม่ได้รับการพิจารณา เพียงเสมือนการ “แหวกหญ้าให้งูตื่น” แต่หากการใช้ช่องทางร้องเรียนโต้แย้งฯ เป็นหนังสือตามลำดับขั้นตอนผ่านช่องทางที่กำหนดโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอำนาจศาล ความเดือดร้อนฯ ดังกล่าว จึงจะได้รับการวินิจฉัยและแก้ไข เพราะเรื่องนี้สำนักปลัดนายกฯสั่งบรรจุเข้าที่ประชุมแล้ว ผู้เข้าสอบได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช คือ ประธานอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร (อธิบดี สถ.) ที่ 1 คณะอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ที่ 2 มีคำถามว่า เหตุใดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ไม่หารือหน่วยราชการที่มิใช่ศาล เช่น กฤษฎีกา (คณะกรรมการพิจารณาทางปกครอง หรือ คณะกรรมการกฤษฎีกา) หรือ อัยการ หรือ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ มท.(ที่ปรึกษากฎหมายของ มท.มีหลายคณะ) เพราะกรณีดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดย สถ.ได้หารือตุลาการศาลปกครองนครศรีธรรมราช เมื่อ 3 มีนาคม 2565 ว่า “จะมีแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามประกาศพิพาทอย่างไร” นัยเพื่อการแก้ไขเยียวผู้ที่ขึ้นบัญชีสอบปลัดเทศบาลสูงไว้ (1 ปี) โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งไปแล้วจำนวน 18 ราย ด้วยเหตุผลว่าเพราะ ศาลมีหน้าที่ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย แล้วตัดสินคดีอย่างยุติธรรม ศาลไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายที่นอกเหนือจากคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพราะอำนาจตุลาการถือเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย อาจเสียความเป็นกลางซึ่งความยุติธรรม เป็นการละเมิดอำนาจศาล และก่อนศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับฯ ศาลเรียกคู่กรณี ไปไต่สวนแล้ว สถ.ทราบแล้ว การไม่ชะลอการแต่งตั้งในทางกฎหมายถือเป็น “ความเสี่ยงภัย” ในการรับผลที่พึงเกิดขึ้นนั้นของผู้ดำเนินการเอง เป็นการ “หน่วง/ถ่วงเวลา” เพื่อหวังผลอื่นใดหรือไม่ เพราะตนเองทราบดีอยู่แล้วในกระบวนการพิจารณาของศาลที่แน่นอน นอกจากนี้การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ข้อมูลการซื้อขายตำแหน่งเป็นข้อมูลลับ ที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานได้โดยง่าย เพราะเป็นความสมยอม ของฝ่าย “ผู้เสนอผู้สนอง” (ผู้ให้ผู้รับ) การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ลงตัว เรียกว่าเป็นกระบวน “การฮั้ว” ที่ผู้ให้ผู้รับไม่โหวกเหวกโวยวายงอแง และไม่มีพยานหลักฐานหรือหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นที่อยู่ปลายทาง คนร้องทุจริตสอบบริหารบุก มท. และทำเนียบฯ งวดนี้จะสะเทือนคนท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ น่าติดตาม อย่างน้อยอาจสร้างกระแสได้บ้าง เพราะเข้าใจว่า ป.ป.ช.คงเริ่มตรวจสอบบ้างแล้ว เพราะเป็นคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพียงแต่การเจาะลึกข้อมูลหรือการสืบสวนแกะข้อมูลการทุจริตที่ซับซ้อนจากเบาะแสต่างๆ มันยาก เช่น การแค็ปภาพ จากสื่อออนไลน์ หรือโทรศัพท์ บทสนทนา พูดคุยกันทางไลน์ เมสเซนเจอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ เป็นต้น เพราะผู้กระทำผิดหรือผู้เกี่ยวข้องอาจมีเป็นจำนวนมาก แบบแบ่งงานกันทำ หรือคดีทุจริตอื่น เช่น เหมือนคดี ทุจริต “สอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ” กรมการปกครอง ปีงบประมาณ 2552 มีผู้ร่วมกระทำผิดถึง 142 คน ที่มีการเปลี่ยนไส้ข้อสอบอัตนัย ลอกข้อสอบ ล็อกสเปค และการเรียกรับเงิน ปกปิดข้อมูลตำแหน่งว่าง คือสัญญาณเรียกร้องขอมีส่วนร่วม (ขอส่วนแบ่ง) การปกปิดอัตราตำแหน่งท้องถิ่นที่ว่าง เป็นปัญหามาตลอดเพราะตำแหน่งว่างหมายถึง ความก้าวหน้าในสายงานของผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระบบ และมีสิทธิที่จะเข้ารับการสรรหาในตำแหน่งที่ว่างนั้น แต่การปกปิดซ่อนเร้นตำแหน่งว่างไว้ ทำให้ข้าราชการผู้มีคุณสมบัติขาดโอกาสในการเข้าสู่ตำแหน่งนั้น ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ เช่น การโอนย้าย หรือ การคัดเลือก หรือการสอบคัดเลือก เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเมื่อ 29 กันยายน 2564 ประกาศระบุ ปลัด อบต.กลาง ตำแหน่งว่าง 502 อัตรา แต่ครั้นเวลาผ่านไปไม่ถึง 6 เดือน (21 มีนาคม 2565) เมื่อคราวการเลือกลงตำแหน่งของผู้สอบได้ มีตำแหน่งว่างถึง 1,000 อัตรา แสดงว่าการแสดงตัวเลขจำนวนตำแหน่งว่างไม่แน่นอน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ตำแหน่งปลัด อบต.กลาง ว่าง ณ วันก่อนสอบ 980 กว่าแห่ง แต่มีผู้สอบผ่านเพียง 526 คน จะเห็นว่าตำแหน่งถูกปกปิดซ่อนไว้ถึงกว่าครึ่ง เป็นต้น ข้อเท็จจริงคือ ข้อมูลตำแหน่งสายงานผู้บริหารว่างมันเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เพราะมันมีเหตุต่างๆ หลายกรณี เช่น ตำแหน่งว่างเพราะ เกษียณราชการเดือนกันยายน ถูกออก ไล่ออก ลาออก ตาย หรือการปรับโครงสร้างตำแหน่ง (กรอบอัตรา) ขึ้นใหม่หรือการปรับอัตโนมัติ และอัตราปลัดจะว่างอีกเยอะ หากปรับ อบต.เป็นเทศบาล เป็นต้น ยกเว้นการย้ายหรือโอนย้าย เพราะหากย้ายไปในระหว่าง อปท.ด้วยกัน ก็ปกติเพราะไปแทนในตำแหน่งที่ว่างแล้ว แต่การโดนย้ายไปหน่วยงานอื่นที่มิใช่ อปท. เป็นตำแหน่งที่ต้องสรรหาโอนย้ายภายใน 60 วัน หากไม่มีการปกปิด กั๊ก (ยัก) ข้อมูลตำแหน่งว่างไว้ เป็นคำถามที่คาใจคนท้องถิ่นมานาน ทั้งที่ ท้องถิ่นจังหวัดก็มีข้อมูลในมือ แต่ก็ปล่อยให้มีการปกปิดข้อมูลรายงานตำแหน่งว่างโดยไม่มีมาตรการแก้ไขใดทั้งสิ้น อปท.บางแห่งไม่รายงาน บังคับเขาก็ไม่ได้ มีหลาย อปท.ที่ซ่อน ตำแหน่งไว้ไม่รายงาน เช่น บาง อปท.เห็นว่างนานมากแล้ว หรือมันเป็นเทคนิคอะไรสักอย่าง เช่น กรณี อบต.ผู้มีสิทธิสมัคร มีไม่เพียงพอ เพราะบุคลากรโตไม่ทัน(ไม่มีคุณสมบัติสอบ) หรือ หากรู้ว่าตำแหน่งว่างเยอะ แต่ก็บอกว่าว่างน้อยเพื่อหน่วยเหนือจะได้ไม่ถูกกดดัน การกระทำเช่นนี้ย่อมแก้ไขปัญหาเรื่องคนขาดไม่ได้ และอาจเป็นข้อต่อรองบางอย่าง ไปสู่การทุจริตแต่งตั้งได้ คำถามการปกปิดอัตราว่าง บริหาร อำนวยการ เป็นการสร้างอำนาจข้อต่อรองเพื่อประโยชน์อื่นใดระหว่าง ฝ่าย อปท. ก.จังหวัด และ ก.กลาง หรือไม่ เพราะ ท้องถิ่นมักไม่มีอะไร ตรงไป ตรงมา ลองตรวจดูว่าการรายงานตำแหน่งว่าง ขาดตอน ขาดตอนไหน ไล่เลียงดูอาจทราบความจริง เช่น บาง อปท. ก็ไม่เห็นดำเนินการใดกับตำแหน่งที่ว่าง อาจปล่อยว่างไว้นานๆ ทั้งที่บุคคลภายใน และภายนอกที่เห็นต่างก็รู้ว่า มีตำแหน่งว่าง และก็ไม่มีในบัญชีตำแหน่งว่างที่ให้ผู้สอบได้เลือกลง เป็นต้น แง่มุมการทุจริตที่อาจคาดไม่ถึงหรือไม่รู้ สายสืบทำงานหนักเพราะไม่มีหลักฐาน การทุจริตมันมีช่องมีพวก กล่าวคือเป็นขบวนการ ทำให้ได้คนเข้ามาในองค์กร เป็นกาฝากในหน่วยงาน ที่ทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน อยากได้คะแนนประเมินก็อัดเงิน ใช้เงินทำงาน หลบเลี่ยงงาน ทำงานแค่เอาหน้า ไม่กล้าให้ประเมินจริง เป็นการส่งเสริมการทุจริต ไม่โปร่งใสในองค์กร ทำให้นายกนักการเมืองเหลิงอำนาจ ระบบ connection ในสังคมไทย เช่น การได้เข้าเรียนอบรมหลักสูตร วปอ. นปส. สถาบันพระปกเกล้า (ปปร.) ข้อดี คือทางเชื่อมหนึ่ง นอกจากการบังคับบัญชาจากอำนาจรวมศูนย์ ข้อเสีย คือ เป็นการสร้างสังคม อภิสิทธิ์ โดยมีระบบตัวเชื่อม ตัวเชื่อมคือสะพานเชื่อม (connection) งานซื้อขายตำแหน่ง ซื้อขายโอนย้าย งานรับเหมา งบโบนัส งานเลื่อนขั้นเงินเดือน งานเลื่อนระดับ เชื่อไหม มันเกี่ยวข้องกัน โดยคน กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มการเมือง ต่อรองกันหลังไมค์ กันสนุก โดยเฉพาะด้วยระบบ connection ที่เหนียวแน่นแข็งแกร่ง ประเด็นเกี่ยวกับการเรียกรับที่ไม่มีพยานหลักฐานเป็นคำถามจากสายสืบเช่น (1) ปลัดสูงงวดนี้คนได้ขึ้นบัญชีและบรรจุได้จ่ายกันหนักเท่าไร (2) ตั๋วซื้อขายตำแหน่งมีประเภทใดบ้าง แบบใดบ้าง ตั๋วเด็กคืออะไร มีไหม หากมีจ่ายตั๋วเด็กคนละเท่าใด คนไม่จ่ายค่าตั๋วมีไหม ตั๋วช้างมีไหม อัตราราคาเท่าใด (3) ราคาตั๋วเทศบาล อบจ. อบต. ราคาแตกต่างกันอย่างไร ต่างกันมากไหม หรืออัตราเดียวกัน เช่น ปลัดสูง อบจ. ปลัดสูงเทศบาล รวมคำถามจากสายสืบอื่นอีกมากมายที่นักสืบต้องตามไปแกะ อาทิ (1) ใครเป็นนายหน้าติดต่อ (2) ใครเป็นผู้รับเงิน (3) จ่ายเงินแบบใด โอนเข้าบัญชี หรือจ่ายเงินสด (4) จ่ายให้ใคร (ใครรับตังค์) (5) คนรับตังค์ บริหารเงินอย่างไร เอาเงินที่รับมาไปส่งใครบ้าง คนรับตังค์มีเอี่ยวหักตังค์ไว้ใช้เองหรือไม่ เพราะงานนี้ไม่มีใบเสร็จ หลักฐาน แน่นอนคือเป็นวิธีการฟอกเงินอย่างหนึ่ง ว่ากันว่างานนี้วงเงินสะพัดหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ลองไปค้นหาคำตอบมาได้แบบชิลๆ สรุปตั๋วมี 3 ประเภท คือ (1) ประเภทตั๋วไม่จ่าย เพราะมีบางคนไม่ต้องจ่ายตังค์ เช่น เส้นสายตำแหน่งดี หรือไม่หาสมาชิกคนมาเสียตังค์ได้หลายราย (2) ประเภทตั๋วเด็ก 7 แสน-ล้าน หมายถึง “เด็กนาย” หรือ “ตั๋วนาย” คือ มีสังกัด มีที่ลงเช่นเป็นเด็กการเมือง “เด็กฝาก” (ฝากผู้ใหญ่) ซึ่งเจ้านายอาจเสียตังค์ให้ ทำให้เสียตังค์น้อยลง (3) ประเภท “ตั๋วซื้อเลย” หรือ “ตั๋วเต็ม” หรือ “ตั๋วช้าง” มีนายหน้ามาหาจ่ายเต็มราคา 1 ล้านขึ้นไป การซื้อขายก็มีเป็นซุ้มๆ เช่น ซุ้มสายจังหวัดเขตปริมณฑล (จังหวัดเล็กแต่ใหญ่) ข่าวว่าเลือกลำดับที่สอบได้เลยพวกนี้ไม่เสียตังค์ จะเป็น “ตั๋วนาย” ซุ้มนักการเมืองบ้านใหญ่ต่างๆ (จังหวัดดัง) อันนี้เสียตังค์น้อย “แบบเกรงใจ” ก็ติดลำดับที่ต้นๆ ส่วนพวกซื้อตั้งหน้าตั้งตาซื้ออย่างเดียว เป็น “สายนกต่อ” เด็กบิ๊กข้าราชการ บวก นักการเมือง และผู้กำกับดูแล ระบบ หน่วยงานและผู้กำกับดูแลเป็นสาเหตุแห่งการซื้อขายตำแหน่งหรือไม่ บางคนมองว่า ผู้กำกับดูแลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมการซื้อขายตำแหน่ง ด้วยวัฒนธรรมการบริหารเชิงกอบโกย ช่างขอ เช่น เริ่มจากขอเรี่ยไร ขอสนับสนุน การหักดิบขาย % โครงการเงินอุดหนุน การซื้อขายบัญชีสอบฯ การจัดอบรมเป็นวรรคเป็นเวรเพื่อหาเงิน แม้กระทั่งการจัดทัศนศึกษานำเที่ยวไหว้พระ 9 วัด เป็นต้น ระบบอุปถัมภ์เป็นตัวบิดาของประเทศนี้คือ ผู้กำกับดูแล (กระทรวง) เป็นต้นแบบของการทุจริต ฉ้อราษฎร์ บังหลวง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ “จ่ายกันตามระยะทาง กม.ละ” ในการสอบก็คือตั้งแต่เริ่มสมัครถึงประกาศผล แต่ไม่มีหลักฐานใดเนียนๆ การร้องเรียนทุจริตใดๆ ต่อหน่วยจัดสอบที่ผ่านมามักไม่เป็นผล สอบเปลี่ยนสายงาน กับสอบคัดเลือก ใน ก.จังหวัด ล้วนต้องมีค่าใช้จ่าย (ลงทุนโดยผู้เข้าสอบ) ทั้งสิ้น แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ “ปาหี่” ให้เห็น เช่น กีดกันผู้สมัครสอบรายอื่นที่ไม่ใช่เด็ก เพื่อให้มีผู้สมัครคนเดียว มีการหวงเก้าอี้โดยคนนั่งทับ แต่สมัครสอบคนเดียวสอบตกก็มี ผู้สอบมีการลงขันจ่ายเงินตอบแทนกรรมการและ เจ้าหน้าที่จังหวัด ฯลฯ (เพราะการสอบรอบสามเดือน มีสอบหลาย อปท.และหลายตำแหน่ง) เป็นต้น คือ (1) ตอนประเมินกำหนดตำแหน่ง (2) ตอนการสอบคัดเลือก การคัดเลือก แม้คนที่ไม่ผ่านการคัดเลือก (คนอกหัก คนถูกหักหลัง) ก็มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ไม่อยากบอกรายละเอียด เพราะอาจถูกหาว่าพูดไม่จริง พูดเกิน หรือ หมิ่นประมาทกัน มันเหมือนการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งถูกต้อง และต้องถือปฏิบัติ เช่น การใส่ซอง และงานเลี้ยงอาหาร เป็นสิ่งธรรมดาๆ จากจุดเพียงเล็กๆ สุดท้ายมันอาจลุกลาม ถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่ดีดตัวสูงขึ้นหลายบาท จนถึงขั้นคล้ายการประมูลซื้อขายตำแหน่งกันเลย ซ้ำร้ายหนักขึ้นเมื่อคนย้ายเข้าก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเสียเงิน หรือ การสับย้าย (โอน) แลกเปลี่ยนกัน ก็มีค่าใช้จ่าย โดยคนที่มีบทบาทในการสับย้าย (โอน) จะมีบทบาท เป็นทั้งผู้ไกล่เกลี่ย ตัวการเรียกรับเงิน ปั่นราคา ทำเรื่องสมอ้าง ฯลฯ เพื่อให้ผู้ที่ต้องจ่ายนิ่งนอนใจ แต่มันมีวิธีชดเชยกันด้วยการจ่าย เงินโบนัส ให้รับเงินสวัสดิการ เช่น ค่าเช่าบ้าน การอนุญาตให้เบิกเงินเดินทางไปราชการบ่อยๆ ในเรื่องที่เกินจำเป็น การพิจารณาให้ขั้น การมาทำงานไม่เต็มเวลา (อภิสิทธิ์ชนที่ผู้บังคับบัญชาปล่อยให้) หรือสารพัดที่เขาจะชดเชยให้กัน ใครปากโป้ง ร้องเรียนฯ ก็จะถูกกลั่นแกล้ง เป็นต้น ปัจจุบันยังมีคนท้องถิ่นหลายคนที่อกหักเพราะการเข้าแท่ง แต่ไม่มีโอกาสปรับระดับ 6 เพื่อ “สอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารได้” เช่น ปรับระดับ 6 เพียงสองวันก็สอบคัดเลือกได้ แบบจ่ายซองง่ายๆ ไม่ต้องรอนาน คนผิดหวัง ก็ชิงชัง เคียดแค้น เป็นธรรมดา เพราะลักลั่น เหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม และฉ้อโกงกันหน้าด้านๆ ตำแหน่งพนักงานจ้าง บางตำแหน่งก็ไม่ต้องสอบแข่งขัน เช่น ผู้ดูแลเด็ก (ผดด.) หรือ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในขณะที่ลูกจ้างตำแหน่งอื่นต้องแข่งขันกันมาก ทั้งเส้นสาย และความสามารถ จึงลักลั่นกันมาก รวมไปถึง การบรรจุ ผดด. เป็น ครู ศพด. โดยการคัดเลือกวิธีพิเศษไม่ต้องสอบแข่งขัน เป็นต้น นี่เป็นปฐมเหตุของการซื้อขายตำแหน่งนับแต่ลูกจ้างมาจนถึงข้าราชการโดยแท้ สรุปกระบวนฮั้วสอบคัดเลือกสมัยก่อนในอำนาจของ ก.จังหวัด มันเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่ กระบวนการกำหนดกรอบตำแหน่ง ในโครงสร้าง อัตรากำลัง วิธีวิเคราะห์ค่างาน วิธีการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ใช้วิธี “ตัดเย็บผ้าโหล” (One size fits all) ในการกำหนดกอง ฝ่าย ต้องยอมรับว่า ไม่ได้วิเคราะห์ลึกอะไร ลวกๆ ทำให้ได้คนไม่ตรงกับงาน ก่อนอื่น ต้องแจงระบบงานตามคำสั่ง กับงานทางวิชาชีพ แยกออกจากกันให้ชัดเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปกำหนด เนื้อหา มาตรฐาน ที่จะไปคัดกรองคนมาทำงาน เมื่อตั้งระบบตรงนี้ให้ชัดเจน ไม่ได้เน้นเพียงแต่คุณวุฒิการศึกษา แต่มาเน้นใน “ความชำนาญ ในเทคนิค วิชาชีพ วิสัยทัศน์” ก็จะได้คนที่ตรงกับหน้าที่ และพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ไม่ใช่เข้ามาเพื่อรอการอบรม ไม่ใช่เอาคนสายวิชาการ วิชาชีพ มาทำแค่เอกสารรายงาน ซึ่งสามารถลอกผลงานกันได้ ที่เหลือยกให้ผู้รับเหมามาทำ แต่คนในตำแหน่งไม่ได้ลงไปทำไปวิเคราะห์ไปวางแผน ไปแก้ไขตรงๆ นั้น ซึ่งเป็นวิธีการขั้นตอนที่ถูกต้องแต่ค่อนข้าง “หาได้น้อยเต็มทน” เพราะ มีแต่ข้าราชการทำเอกสาร เซ็นแฟ้ม ตรวจรับงาน เต็มสำนักงาน แล้วจะมีบุคลากรท้องถิ่นไปขับเคลื่อนผลงาน อะไร ให้งานมันสำเร็จได้ นอกจาก มีแต่นักการเข้ามารับเหมา เอาแค่วุฒิมาสมัครสอบ พอเข้ามาทำงาน ก็อบรมๆ ลอกเอกสาร ลอกผลงาน ลอกความรู้ความสามารถกัน เพราะระบบที่ใช้ “คัดกรอง” มานั้น สูญเปล่า ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี ความแตกต่างระหว่าง “คนซื้อตำแหน่งเข้ามา กับคนมีความรู้ความสามารถในองค์กร” จึงแทบไม่ต่างกันเลย นี่แหละ มันจึงซื้อขายตำแหน่งกันสนุก เมื่อมีการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง สภาพสังคมปัจจุบัน มีปัญหาหลากหลาย ความล้มเหลวจากโครงการภาครัฐ เข้าไปส่งเสริม เข้าไปแทรกแซง ภาคเอกชน ด้านส่งเสริมอาชีพ ด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านท่องเที่ยว จึงต่างชั้นกับที่เอกชนทำ ยกเว้น การเข้าไปเยียวยา การไปแทรกแซงตลาดเท่านั้น ที่ภาครัฐทำได้ดีกว่า เอกชน เมื่อเป็นเช่นนี้ การซื้อขายตำแหน่ง จึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนภาครัฐ ประกอบกับ การโอนย้าย การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เงินโบนัส การจัดซื้อจัดจ้าง การใช้อำนาจ อนุมัติ อนุญาต การสอบสวนวินัย ฯลฯ มันมาเกี่ยวข้องกับกระบวนการหาผลประโยชน์ “ระบบคุณธรรม” จึงล้มเหลวไม่เป็นท่า การทุจริต คอรัปชั่น จึงฝังรากลึก ขยายวงกว้างออกไปไม่สิ้นสุด “พอกันหรือยังนี่ก็ทุจริตนะ”