สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ พ่อท่านคล้าย จันทสุวัณโณ วัดสวนขัน อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งจังหวัดนครศรีธรรมราชมา ได้รับการยกย่องและขนานนามว่า “เทพเจ้าของคนใต้” ปัจจุบันยังได้มีการนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ของท่านเข้าร่วมเป็นมวลสารพุทธคุณในการจัดสร้างวัตถุมงคลต่างๆ ของจังหวัด เพราะกิตติศัพท์และเกียรติคุณของท่านเป็นที่ศรัทธาและเคารพเลื่อมใสอย่างมาก พ่อท่านคล้าย จันทสุวัณโณ วัดสวนขัน พ่อท่านคล้าย จันทสุวัณโณ หรือ พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เดิมชื่อ คล้าย เกิดเมื่อปี พ.ศ.2417 ที่บ้านโคกกระทือ ต.ช้างกลาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ร่ำเรียนหนังสือไทยและอักขระขอมตั้งแต่อายุ 10 ปี และเรียนวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งนับว่าสำคัญมากในสมัยนั้นกับอาจารย์ขำ อดีตเจ้าอาวาสวัดจันดี หรือวัดทุ่งบอน แล้วลาสิกขามาตั้งสำนักสอนหนังสือแก่เด็กๆ พ่อท่านคล้ายได้รับอุบัติเหตุครั้งใหญ่เมื่ออายุราว 14-15 ปี ระหว่างไปอาศัยอยู่กับพี่สาวที่ จ.กระบี่ โดยขณะที่พี่เขยโค่นต้นไม้ ส่วนหนึ่งของต้นไม้โค่นลงมาทับหลังเท้าจนกระดูกแตก ต่อมาต้องตัดปลายเท้าออกทำให้การเดินเหินไม่สะดวก ท่านจึงนำกระบอกไม้ไผ่มาสวมเพื่อให้เดินสะดวกขึ้น ช่วงนั้นท่านกลับมาพักกับลุงและป้าที่บ้านทุ่งพลี อ.ฉวาง และเข้าศึกษาต่อในสำนักพระอาจารย์ทอง ที่วัดม่วง อ.ฉวาง ศึกษาร่ำเรียนทั้งหนังสือไทย ขอม และการคำนวณตัวเลข จนแตกฉาน นอกจากนี้ยังเดินทางไปที่วัดจันดี หรือวัดทุ่งบอน ซึ่งอยู่ใน อ.ฉวางเช่นกัน เพื่อฝึกท่องปาฏิโมกข์จนสามารถท่องได้อย่างคล่องแคล่ว พออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ในปี พ.ศ.2437 จึงเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดม่วง โดยมีพระอาจารย์กราย เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สังข์ เจ้าอาวาสวัดไม้เรียง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทอง เจ้าอาวาสวัดม่วง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์ล้อม วัดวังม่วง เป็นพระอาจารย์ผู้ให้สรณคมและศีลก่อนทำพิธีอุปสมบท ได้รับฉายา“จนฺทสุวณฺโณ” ซึ่งหมายถึง ผู้มีวรรณะงามดุจพระจันทร์ เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้ายรุ่นแรก 2498 ในปี พ.ศ.2441 พ่อท่านคล้ายได้เดินทางไปศึกษาภาษาบาลีที่วัดหน้าพระบรมธาตุ อ.เมือง อันเป็นสำนักเรียนด้านปริยัติธรรมสำนักใหญ่ของจังหวัด มีพระครูกาแก้ว (ศรี) เจ้าอาวาสเป็นพระอาจารย์ ร่ำเรียนมูลกัจจายน์อยู่ 3 ปี จนมีความแตกฉานทั้งด้านปริยัติธรรมและการแปลภาษาบาลี และยังได้ศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมต่างๆ จากพระอาจารย์กราย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย จากนั้นท่านได้เดินทางไปจำพรรษา ณ วัดจันดี และมักออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ จนถึงวัดสามพัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี และศึกษาเพิ่มเติมด้านวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์หนู มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า เมื่อครั้งพ่อท่านคล้ายจำพรรษาอยู่ที่วัดสามพัน ท่านได้นำชาวบ้านไปช่วยกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิปัน ซึ่งได้ชื่อว่ามีจระเข้มากมายและชอบอาละวาดจนชาวบ้านเกรงกลัว พ่อท่านคล้ายจึงลงแพลูกบวบต้นกล้วยไปบริกรรมคาถาพร้อมหว่านทรายเสกไปทั่วบริเวณ นับแต่นั้นมาจระเข้ก็หายไปจากแม่น้ำอิปันเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ต่อมาท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดหาดสูง เพื่อศึกษาวิทยาการต่างๆ เพิ่มเติมจากพระอาจารย์กราย พระอุปัชฌาย์ แล้วลาพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปวัดมะขามเฒ่า อ.ระโนด จ.สงขลา ปี พ.ศ.2448 พ่อท่านคล้ายกลับมาจำพรรษายังวัดจันดี ซึ่งเป็นช่วงที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันว่างลง ชาวบ้านจึงเดินทางมาหาพระอาจารย์กราย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอฉวาง เพื่อขอให้แต่งตั้งพ่อท่านคล้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน พ่อท่านคล้ายจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน อ.ฉวาง ตั้งแต่นั้นมา และได้ทำการพัฒนาวัด ปกครองดูแลวัด จนเจริญรุ่งเรืองสืบมา เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้ายรุ่นแรก 2498 ปี พ.ศ.2483 พ่อท่านคล้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิศิษฐ์อรรถการ แต่ผู้คนก็ยังเรียกขานท่านว่า “พ่อท่านคล้าย” เรื่อยมา กิตติศัพท์และเกียรติคุณของท่านขจรไกล ทั้งด้านวาจาศักดิ์สิทธิ์ หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วภาคใต้ ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2513 สิริอายุ 96 ปี 75 พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันนานถึง 65 ปี สรีระของพ่อท่านคล้ายได้รับการบรรจุในโลงแก้ว อยู่ในองค์พระเจดีย์ธาตุน้อย วัดพระธาตุน้อย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างไว้จวบจนปัจจุบัน และผู้คนทั่วทุกสารทิศก็เดินทางมานมัสการกราบไหว้เป็นเนืองนิจ เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้ายรุ่นแรก 2498 พ่อท่านคล้ายสร้างวัตถุมงคลไว้หลายรุ่นหลายแบบ ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาทั้งสิ้น โดยเฉพาะ ‘เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้ายรุ่นแรก’ สร้างประมาณปี พ.ศ.2498-99 ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนท่านพ่อคล้ายครึ่งรูป ห่มจีวรแบบคลุม ด้านล่างเป็นอักษรไทยนูน 3 บรรทัด ว่า “หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน รุ่น ๑” ขอบเหรียญยกเป็นเส้นลวด 2 ชั้น ส่วน ด้านหลัง ตรงกลางเป็น “ยันต์แปด” และ ‘เหรียญรูปไข่ พิมพ์ไหว้ข้างรุ่นแรก’ ที่สร้างหลังจากเหรียญรุ่นแรกไม่กี่เดือน ออกที่เกาะสมุย โดย พระมหาเจริญ ไชยธวัช วัดมหาธาตุ ได้ขออนุญาตพ่อท่านคล้ายจัดสร้างและนำไปแจกที่เมืองสุราษฎร์และที่เกาะสมุย ซึ่ง 2 รุ่นนี้ นับเป็นวัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมสูงและหาค่อนข้างยาก เรียกได้ว่า เป็นสุดยอดแห่งเหรียญประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมี รูปหล่อ เหรียญ แหวน ชานหมาก หรือแม้กระทั่งน้ำมนต์ เพราะเชื่อถือศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์และวิทยาอาคมของพ่อท่านคล้าย