ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล “ผมว่าชาตินี้กับชาติหน้า ถ้าจะมองเป็นจักรวาลนี้กับจักรวาลอื่นก็คงจะได้นะ” พอเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อ วิทยาก็ยังไม่ได้กลับเชียงใหม่ เพราะเขาอยากร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับการวิจัยทางดาราศาสตร์ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯตอนช่วงนั้นพอดี แล้วเขาก็โทรศัพท์มาหาผมว่าอยากเอาของฝากจากเชียงใหม่มาให้ ซึ่งก็คือลิ้นจี่ที่เขาสั่งมาจากไร่ของเพื่อนบนดอย แล้วเอามาฝากคนที่เคารพนับถือ ตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายแก่ ๆ แต่วิทยาก็คุยต่อกับผมจนใกล้จะค่ำ ก่อนที่จะขอตัวกลับไปรับประทานอาหารค่ำกับพี่น้องที่บ้าน ที่วิทยามาหาผมก็เพราะเขามีความสงสัยว่า ที่พระพุทธเจ้าพูดถึง “นิพพาน” นั้นน่าจะเป็น “ความรู้ใหม่” ที่นักดาราศาสตร์หลาย ๆ คนยังไม่รู้ หรือไม่เคยคิดที่จะนำมาศึกษา ซึ่งผมก็ออกตัวว่าผมไม่มีความรู้มากพอที่จะคุยถึงเรื่องนิพพานนั้นได้ ทว่าวิทยาก็ยังอยากคุยกับผมในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าผมมีความสนใจในเรื่องของจักรวาล ตั้งแต่ที่เคยคุยกันในเรื่องนี้มาเมื่อสิบกว่าปีก่อน อีกทั้งยังเห็นว่าผมเป็นนักวิชาการเหมือนกันกับเขา ที่สามารถคุยได้อย่างสบายใจ โดยเขาเล่าให้ฟังว่าเวลาที่เขาไปคุยเรื่องนี้กับใคร ๆ บางคนก็ทำเหมือนว่าไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องนอกโลกอยู่ไกลตัว บางคนก็หาว่าเขาฝันเฟื่องหรือคิดบ้า ๆ รวมถึงบางคนที่พอฟังไม่เข้าใจก็หงุดหงิด และพาลหาเรื่องโต้เถียงด้วยความรำคาญ บ่ายวันนั้นดูเหมือนวิทยาจะเป็นฝ่ายพูดอยู่เพียงคนเดียว โดยมีผมเป็นคนฟังและเสริมความเห็นในบางช่วง เขาเริ่มต้นด้วยประโยคที่ผมยกมาข้างต้น และก็สาธยายไปโดยละเอียด เขาเชื่อในเรื่องของการตายแล้วเกิดใหม่ คำว่า “ชาตินี้ ชาติหน้า” ที่คนไทยชอบพูดถึงกันเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ ในฐานะนักดาราศาสตร์ เขาเชื่อว่ายังมีโลกอื่นอยู่ในจักรวาลนี้ แต่เขามีความเชื่อออกไปอีกว่า ยังมีจักรวาลอื่น ๆ อยู่รอบ ๆ จักรวาลของเรา โดยแต่ละจักรวาลนั้นก็สามารถเชื่อมโยงติดต่อกันได้ คล้าย ๆ กับการเปิดประตูห้อง จากห้องหรือจักรวาลหนึ่งไปสู่อีกห้องหรืออีกจักรวาลหนึ่ง โดยระบบของจักรวาลที่ยังไม่มีใครค้นพบได้ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้เขามีความเชื่อแตกต่างจากนักดาราศาสตร์กระแสหลัก ที่บอกว่าจักรวาลของเรานี้น่าจะเป็นจักรวาลเดียวที่มีอยู่ อย่างชื่อในภาษาอังกฤษว่า Universe ซึ่งคำว่า Uni ก็คือ “เอก” โดยจักรวาลนี้ยังมีชื่อเรียกในภาษาไทยอีกชื่อหนึ่งว่า “เอกภพ” ก็มาจากคำว่า Universe นั่นเอง ดังที่ได้คุยกับเขามาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาเตือนความจำผมว่า ในตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์ที่สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป ที่มีชื่อย่อว่า CERN ได้เริ่มโครงการวิจัยอนุภาคขนาดเล็กที่สุด ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะทำให้สามารถค้นพบจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง ด้วยการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคความเร็วสูงขึ้นที่ชายแดนสวิตเซอร์แลนด์กับฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อมาถึงเวลานี้(ที่วิทยาได้มาพบผมเมื่อปีกลาย)ก็ยังทำการวิจัยในเรื่องนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่มั่นคงแน่ชัด ยังคงอยู่ในข้อสมมุติ และยังพยายามที่จะพิสูจน์ข้อสมมุตินั้นอยู่ต่อไป นั่นก็คือว่าจักรวาลนี้มีจุดกำเนิดจากอนุภาคที่เล็กที่สุดจนแยกอนุภาคนั้นต่อไปอีกไม่ได้(ที่ CERN พยายามจะค้นหามาหลายปีนี้) นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ Big Bang หรือการระเบิดออกมาของอนุภาคนี้ อันเป็นต้นกำเนิดของจักรวาล ซึ่งการแตกตัวออกของอนุภาคดังกล่าวนี้ ได้ทำให้จักรวาลขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในเวลานับพันล้านปี จนไม่สามารถจะกำหนดขอบเขตได้ (แม้จะมีนักดาราศาสตร์จำนวนหนึ่งบอกว่าสามารถวัดอาณาเขตของจักรวาลได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นอีกข้อสมมุติหนึ่งเช่นกัน) จนกระทั่งไม่ขยายตัวอีกต่อไป จากนั้นก็ใช้เวลานับพันล้านปีที่จักรวาลของเรานี้จะหดตัวลง จนเหลือเพียงอนุภาคที่เล็กที่สุดดังกล่าวอีกครั้ง วนเวียนไปอย่างนี้มาไม่รู้ว่ากี่รอบ ต่อกี่รอบแล้ว (ซึ่งก็ยังเป็นเพียงข้อสมมุติอยู่เช่นกัน) วิทยาบอกว่ามนุษย์เป็น “ชิ้นส่วนหนึ่ง” ของจักรวาลอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อจักรวาลมีการเกิดดับไปได้เรื่อย ๆ มนุษย์ก็จะมีชีวิตที่เกิดและดับไปได้เรื่อย ๆ เช่นกัน แต่เมื่อเขาได้รับรู้ถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบเกี่ยวกับ “นิพพาน” ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ในสภาพที่เรียกว่านิพพานนี้ มนุษย์จะไม่เกิดและดับอีกต่อไป เขาจึงนำเรื่องนิพพานนี้มาขบคิด ประการแรก มันเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการเกิดดับของจักรวาล ที่มันจะต้องเกิดและดับไปอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ประการที่ต่อมา แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นสัพพัญญู คือผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่ง เขาก็เลยเชื่อต่อไปว่าพระพุทธเจ้าอาจจะมองเห็นในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ทั้งหลายมองไม่เห็น อันนำมาซึ่งความคิดในประการสุดท้ายของเขา คือเราอาจจะนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับการค้นพบของพระพุทธเจ้านี้ได้ เพื่อให้มองเห็นความเป็นไปได้ในทั้งสองด้าน คือทั้งในทางวิชาการวิทยาศาสตร์กับทางความเชื่อในศาสนาพุทธ ในศาสนาพุทธมีสิ่งที่คนทั้งหลายเชื่อกันว่า ชีวิตนี้ไม่ที่สิ้นสุด มีเกิดและดับไปเรื่อย ๆ โดยเรียกการเกิดแต่ละครั้งว่า “ชาติ” และสถานที่ที่ไปเกิดนั้นเรียกว่า “ภพ” ซึ่งแต่ละ “ชาติภพ” ของแต่ละคนนั้นก็ไม่เหมือนกัน คือเวลาเกิดและสถานที่เกิดก็แตกต่างกันไป ยิ่งไปกว่านั้น “สภาพ” หรือสิ่งไปเกิดเป็นก็แตกต่างกันด้วย อย่างพระพุทธเจ้าเองก็ “เกิดดับๆ” มาแล้ว 500 ชาติ หรือ 500 สภาพ ทั้งที่เป็นสัตว์ต่าง ๆ และมนุษย์ในฐานะต่าง ๆ จนชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นพระเวสสันดร ก่อนที่จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าและไม่เกิดดับอีกต่อไป การไม่เกิดดับของพระพุทธเจ้า ถ้าหากมองด้วยทฤษฎี “หลายจักรวาล” (Multiverse) ของเขา เขาก็เชื่อว่าที่พระพุทธเจ้าค้นพบก็คือมนุษย์เมื่อถึงกาลนิพพาน มนุษย์ก็จะไม่มีการเกิดในโลกนี้หรือพูดให้กว้างออกไปได้เช่นกันว่า ไม่ต้องเกิดในจักรวาลนี้อีกต่อไป เพราะยังมีจักรวาลอื่นที่เชื่อมต่อกับจักรวาลของเรานี้อยู่อีก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่มนุษย์เมื่อตายไปแล้ว “อนุภาคแห่งชีวิต” ก็อาจจะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในจักรวาล รวมถึงที่เดินทางเชื่อมโยงไปยังจักรวาลอื่น ๆ และไปเกิดใหม่ในรูปแบบของ “สิ่งมีชีวิตใหม่” ในจักรวาลอื่น ๆ นั้นก็ได้ นั่นก็คือเมื่อเรากล่าวถึง “ชาตินี้ ชาติหน้า” ที่เคยคิดแต่เพียงว่าคือ “โลกนี้ โลกหน้า” ก็ต้องหมายความถึง “จักรวาลนี้ จักรวาลหน้า” ซึ่งก็คือจักรวาลอื่น ๆ ที่ให้สิ่งต่าง ๆ ได้ไปเกิดใหม่นั้นด้วย ผมฟังวิทยา “บรรยาย” เกือบสองชั่วโมงด้วยความเพลิดเพลิน ที่เรียกว่า “เพลิดเพลิน” ก็เพราะว่า วิทยาพูดด้วยท่าทางและอารมณ์ที่มีความสุขมาก เขาใช้ภาษาที่แม้จะเข้าใจยาก แต่ด้วยความพยายามที่จะทำให้ผมเห็นด้วย เขาก็ยกตัวอย่างบางเรื่องที่เราพอจะเข้าใจ เช่น มีหนังฝรั่งบางเรื่องที่พูดถึงโลกอื่นหรือจักรวาลอื่น รวมถึงที่ตัวเอกในเรื่องได้ไปพบกับพ่อและแม่ที่เสียชีวิตแล้วที่ดาวดวงอื่นนั้นด้วย บางครั้งก็ยกตัวอย่างถึงเรื่องของเทพนิยายและความเชื่อต่าง ๆ ของคนไทยและฝรั่ง ในเรื่องของเทวดาและเทพเจ้าต่าง ๆ เพื่อยืนยันให้เห็นว่า มีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่กำหนดการเกิดการตายของมนุษย์ ระหว่างที่ผมฟังวิทยาอยู่นั้น มีบางช่วงก็อยากถามแย้งขึ้นมาว่า ถ้าค้นพบขอบจักรวาลนี้ที่จะไปเชื่อมกับจักรวาลอื่นแล้ว “เราจะได้อะไร” แต่ก็ไม่อยากถาม เพราะอาจจะไปขัดคอและทำให้การสนทนาไม่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเราเปิดใจกว้างและคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งก็คือทำให้ผู้พูดมีความสุขความสบายใจ ที่ได้ระบายความอัดอั้นตันใจ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยากให้คนอื่นรู้ด้วยออกมา และอีกส่วนหนึ่งเราก็อาจจะเกิดมุมมองอื่น ๆ ที่แปลกใหม่ รวมถึงที่ได้รับความสุขจากที่ผู้พูดได้มอบให้นั้นด้วย ผมยังจำคำพูดของวิทยาก่อนที่เขาจะลากลับได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเขาพูดออกมาด้วยใบหน้าสดชื่นเป็นที่สุดว่า “ผมไม่กลัวตายหรอกครับ อยากตายเร็ว ๆ เสียด้วยซ้ำ เผื่อจะได้ไปเจอคนที่เราอยากรู้จักหรือเกิดไม่ทันในที่อื่นหลังความตายนั้น”