ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ในความจริงแท้ของชีวิต คนเราทุกคนย่อมมีหัวใจของการหยั่งเห็นอันล้ำลึกเป็นของตัวเอง มันคือผัสสะแห่งกายร่างที่ถือเป็นสัญญาณชีพอันละเมียดละไมของจิตวิญญาณ ไม่ว่าความเป็นชีวิตจะดำรงอยู่ในสถานะใดก็ตาม การรับรู้ในรู้สึกที่ค่อยๆผูกพันกับตัวตน จะค่อยสยายปีกและทะยานบินสู่ห้วงแห่งปัญญาญาณอันสูงค่า มันคือความหมายที่ทั้งถูกแปรค่าและแปลค่า เป็นคำตอบแห่งข้อสงสัยของโลกกว้าง จนกลายเป็นความกระจ่างแจ้งแห่งศาสตร์และศิลป์ของความตระหนักรู้ของดวงตา...แห่งใจโดยแท้...”
นี่คือ...ภาวะสำนึกของการร่ำระบาย...ที่เต็มไปด้วยความจริงใจในความรู้สึกแห่งบทกวีและความเป็นกวีอันบริสุทธิ์ของ”รินศรัทธา กาญจนวตี”...ผู้เรียงร้อยบทกวีในแต่ละบทของเธอออกมาด้วยภาวะรู้สึกอันเนียนแนบ สู่ความหวังอันงามตระการและเป็นเสรีแห่งดวงใจ...
“ขณะนั้นฉันไม่เห็นเป็นกระดาษ ที่สามารถเขียนอะไรลงไปได้ หากฉันเห็นประตูอยู่ภายใน เปิดออกไปสู่โลกกว้างอย่างเสรี”
นามแห่ง “ดวงตากวี” รวมบทกวีที่ทอดยาวไปไกลสุดสายตา...ทะลุผ่านเขตคามของโลกอันกว้างใหญ่และดิ่งลึกลงไปสู่สรวงสวรรค์แห่งสำนึกรู้อันแจ้งกระจ่างภายใน.. ทั้งหมดในปรากฏการณ์เหล่านี้คือฉากแสดงซ้อนฉากแสดงที่ ดลความหวังให้ก่อเกิดขึ้นอย่างมีสติ....แม้ว่า...
* “ในท่ามกลางทุกข์โศกโรคระบาด
เห็นน้ำตาประชาชาติรินหยาดร่วง
เห็นชีพลับดับดาวทีละดวง
เห็นหัวใจหนักหน่วงจมห้วงทุกข์
*ในเครื่องหมายคำถามความยากเข็ญ
ยังพอเห็นคำตอบการปลอบปลุก
เห็นมือเพื่อนมนุษย์ช่วยฉุดลุก
เมื่อมีคนล้มคลุกลงกลางดิน
*เห็นเสบียงเลี้ยงใจให้ต่อสู้
ที่ยังคงส่งสู่มิรู้สิ้น
เพียงแค่ข้าวกล่องหนึ่งซึ่งได้กิน
หล่อความหวังเลี้ยงชีวินได้อีกวัน....”
การมองเห็นผ่านสายตาของจิตใจ ด้วยมโนทัศน์ที่หวังจะปลดเปลื้องความทุกข์ให้ออกไปจากพื้นที่ชีวิตที่รุกรานด้วยความขมขื่นของชะตากรรมและหายนะของโลก ถือเป็นสายทางของการประกอบสร้าง ดวงตาแห่งดวงใจของการเกื้อกูลอันเต็มไปด้วยการใคร่ครวญ...คนเราจำเป็นต้องมีจิตเกื้อกูลต่อกันและกัน และควรมุ่งหวังที่จะเปิดเผยออกมาสู่โลก แห่งการเรียนรู้ที่ต้องเรียนรู้ในทุกเมื่อ...ด้วยการเพ่งพินิจ..
*“เพ่งพินิจผ่านภาพที่ฉาบไว้
พบดวงใจเลอะคราบการฉาบสี
และความหลังแหว่งวิ่นไร้ชิ้นดี
จากการถูกโบยตีของชีวิต
* เธอมิได้ซุกซ่อนอย่างหนอนไหม
หากเก็บใจอาดูรหล่อปูนปิด
ซ่อนรู้สึกเปลี่ยวร้างอย่างมิดชิด
ให้มืดมิดเช่นนั้นนานแสนนาน
*เธอต้องใช้ใจเจาะกะเทาะเปลือก
โดยการเลือกศรัทธาและกล้าหาญ
แล้วกลีบของดอกไม้ฤดูกาล
จะผลิบานแด่ผีเสื้อเมื่อเธอพร้อม”
“รินศรัทธา”มักจะเน้นย้ำถึงความศรัทธาและความกล้าหาญ...เป็นรากลึกแห่งบทกวีของเธอ ...มันส่งผลต่อการตีความและวิพากษ์แก่นแกนของความเป็นชีวิตในแต่ละชีวิตว่า...แท้จริงแล้ว!...มนุษย์เราเกิดมาและมีชีวิตอยู่เพื่อหวังถึงสิ่งใดกันแน่...เราต้องเห็นและหยั่งเห็นเพื่อความประจักษ์ต่อการรื้อสร้างชีวิต สู่การเป็นความหมายในวิถีแห่งความมีความเป็น...ด้วยลมหายใจแห่งสัจจะอันสมบูรณ์.ให้จงได้..
* “ขอเพียงมีข้าวน้ำครบสามมื้อ/มีเงินซื้อผลักปลาเป็นอาหาร/พอได้กินอิ่มท้องตามต้องการ /เพื่อปรุงเป็นพลังงานปราณชีวิต/
* แต่มนุษย์ไม่ได้หิวเพียงอาหาร/จากพื้นฐานจึงแปลงตะแบงบิด/ถูกความอยากครอบงำความนึกคิด/บังคับจิตบงการใจให้ดิ้นรน/
*ยิ่งพบว่าขาดพร่องยิ่งต้องเพิ่ม/ให้ตักตวงมาเติมตั้งแต่ต้น/ต้องได้กินตำแหน่งแสดงตน/เสพความรวยเลอะล้นจนสำลัก/*
จะเห็นได้ว่าคำวิพากษ์หรือความวิพากษ์ที่”รินศรัทธา”มีต่อรอยร่างแห่งสำนึกคิดและการกระทำอันหม่นมัวของผู้คนและมวลมนุษย์ ณ วันนี้นั้น ช่างเป็นความแม่นตรงและหาญกล้า มันคือความเอ่อท้นของความจริงที่ทั้งอยู่ใต้และอยู่เหนือการคาดคะเนของความเป็นจริง...เป็นจริตมายาที่คละเคล้าอยู่กับอาจมของมโนธรรมที่ขาดวิ่นอยู่ซ้ำๆ...
* “....คล้ายมนุษย์เลือกเล่นเป็นผู้ล่า/จึงทำทีวางท่าน่าเกรงขาม /ทั้งคติวิถีอันดีงาม/หลงระเริงไปตามความความเคยชิน/
*แต่ที่จริงความอยากคือปากเสือ/มันฉีกเนื้อมโนธรรมให้ขาดวิ่น/ขณะเราเสพลาภยศอร่อยลิ้น/เราก็ถูกกัดกินความเป็นคน/*
...ผมถือว่าประสบการณ์แห่งการเรียนรู้..”เวิ้งทะเลถ้อยคำและความคิด”..จากนักเขียนผู้เลื่องชื่อทางสำนึกรู้อันคมชัดและเปี่ยมเต็มไปด้วยพลังอำนาจทางจิตวิญญาณแห่งการวิพากษ์อันสุจริต...คือที่มาของแสงสว่างทางปัญญาแห่งปรากฏการณ์กวีของ”รินศรัทธา”ที่มีน้ำหนักต่อการสร้างสรรค์ยิ่ง...อย่างน้อยมันก็คือจุดบรรจบแห่งอดีตกับปัจจุบัน ในภาวะคลื่นลมทางความรู้สึกรู้สึกแห่งอารมณ์ลึก เป็นภาวะนบน้อมแห่งการกู่ตะโกนอันหาญกล้า ต่อการมองเห็นวิถีแห่งสัจจะที่งอกงามและคมชัด...นิรันดร์...
* เพราะ”กุหลาบ”สวยสมด้วยคมหนาม/ยิ่งถูกความทุกข์ข่มยิ่งคมกล้า/คมคำเขียนล้วนเอื้อเพื่อประชา/คมปัญญาคมความคิดคมจิตใจ/
*ผู้อยากรานให้ล้มยิ่งข่มเหง/ยิ่งผลิเร่งให้ผลิออกเป็นดอกใหม่/และทุกการบานออกของดอกไม้/คือการยื่นคืนให้ปฐพี/
*แด่ชีวิตที่งอกงามเพื่อสร้างงาน/แด่ผู้หว่านดอกไม้รายวิถี/จึงร้อยคำเทิดค่าคุณความดี/แทนมาลีกุหลาบน้อมกราบครู/
บทกวีแทนความรู้สึกด้านลึกแด่”ศรีบูรพา”บทนี้ คือความล้ำลึกแห่งประพันธกรรม อันเป็นจุดก่อเกิดแห่งการสดับรู้และมองเห็นโลกในวิสัยของกวีผู้มีความรับรู้ในรู้สึก ...ผู้มองเห็นในส่วนที่ควรหยั่งเห็น...การมองไกลออกไปสู่สนามรบแห่งโลกกว้างที่โหดร้าย...เงื่อนไขแห่งสงครามและการประหัตประหารอันไร้สติ...ปราศจากเหตุผลอันสมควรแก่เหตุแห่งการกระทำ...บังเกิดเป็นบาดแผลใจที่คงค้างอยู่โดยปราศจากนิยามอันประเสริฐใดๆ...นี่คือเจตจำนงแห่งปริศนาของบทกวีที่ “รินศรัทธา”เฝ้าเพียรถาม...ถึงความเป็นจริงแห่งความเป็นคนของวันเวลาอันเจ็บปวดที่แท้นี้...
* สงคราม นิยามใดในวันนี้/คุณความดีความถูกต้องถูกมองข้าม/ขีปนาวุธ จุดระเบิด เกิดไฟลาม /มโนธรรมไร้คำถามตามบัญชา/
*อย่าเรียกขาน นักฆ่า ว่า นักรบ/ร้อยพันศพสังหารได้ไม่เลือกหน้า/เมื่อหัวใจไร้แม้เศษความเมตตา/ก็นับว่าต่ำกว่าความเป็นคน.. ในฐานะของความเป็นกวี
“รินศรัทธา”คือกวีที่รังสรรค์บทกวีแต่ละบทในรวมบทกวีชุดนี้...ด้วยคุณค่าของความรู้สึกที่เป็นชีวิตสัมผัส...มันกอปรด้วยองค์ประกอบของสาระเนื้อหาเชิงสังคมเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะสื่อถึงกระบวนการแห่งเจตจำนงที่หวังจะเฉลยถึงความเคลือบแคลงแห่งความเป็นส่วนตัว....ที่จมปลักอยู่กับลมหายใจแห่งปริศนาที่ติดขัดอันไม่รู้จบของชีวิตที่ติดตัน...จริงๆแล้วตัวตนของเราคือสิ่งใดกันแน่.??
..หากเราไม่ยอมที่จะมองเห็นมันอย่างตั้งใจ...ทั้งๆที่..เจตนาแห่งงการมองเห็นของชีวิตก็คือ..คำถามที่พลิกฟื้นเจตจำนงของเราได้เสมอ ดี งาม จริ ง...
ลวงเช่นไร จึงขึ้นอยู่กับกำหนดนิยามของผู้ปลูกสร้างหัวใจแห่งใจอันนำไปสู่ความเที่ยงแท้แห่งความเข้าใจนั้นๆ...
*“หัวใจของกวีอยู่ที่ไหน”
/อาจพบในเมล็ดพันธุ์ที่เพาะหว่าน/อาจอยู่ในมือดำๆที่กรำงาน/อยู่ในลานนวดข้าวของชาวนา/
*อยู่ในแรงหายใจที่เหนื่อยหอบ/ขณะแบกกระสอบไว้บนบ่า/อยู่ในความเจ็บช้ำ ในน้ำตา/ขณะค่าคนเราไม่เท่ากัน/
*เจ้าจะพบหัวใจในทุกสิ่ง/ในความทุกข์ ในความจริง ในความฝัน/เจ้าต้องอ่านใจเจ้าจนเท่านั้น/และสักวันใจเจ้าจะเข้าใจ/
“ดวงตากวี “คือบทกวีที่พราวพร่างอยู่ในความจริงในทุกๆบทตอน ...ง่าย งาม และเป็นความหมายแห่งใจในทุกๆย่างก้าวของความมุ่งหวัง...ความตั้งใจในการสื่อสารเนื้อในแห่งรสสัมผัส และนัยแห่งการรับรู้ของบทกวี...ถือเป็นการร่วมทำงานที่เนียนแนบและนบน้อมระหว่างกันของผู้สร้างและผู้ปลูกสร้าง...เป็นการประกอบสร้างร่วมกันในวิถีจริตแห่งคมถ้อยคำที่ชี้ประเด็นที่เคยปกปิดไว้..ด้วยเปลือกหุ้มหัวที่มิดชิด..ให้กลับกลายเป็นวัตถุเรืองแสงแห่งการรับรู้อันไม่ถูกบิดเบือนตลอดไป...
“รินศรัทธา”สร้างบทเรียนสู่บทเรียนของความเป็นโลกสำนึกได้อย่างหมดจด....ทุกสิ่งเป็นบทเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านลีลาของความเป็นกวีที่แตกต่างกัน...ลีลาแห่งลีลานั้นเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยศรัทธาและมุ่งหวังตามเข็มทิศแห่งจิตใจเสมอ...มันคือดวงตาอันแจ้งกระจ่าง....ที่มิอาจมีกาลเวลาอันหม่นมืด และ ไร้หวัง...แม้เมื่อใด!!!.
“ยึดถือศรัทธาเป็นธง นัยน์ตาแน่วตรง มุ่งตามเข็มทิศ ..จิตใจ”