ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ อีกหนึ่งห้องเรียนเมืองนครปฐมโบราณ มีการเปิดนิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ไปเมื่อต้นสัปดาห์ จากข้อมูลเผยแพร่กรมศิลปากร เมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองในสมัยทวารวดี นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา จัดเป็นศิลปกรรมต้นธารอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน – แม่กลอง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 บรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ส่วนใหญ่ล้วนสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท หากแต่ยังปรากฏหลักฐานการนับถือศาสนาพุทธลัทธิมหายานและฮินดูรวมอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย การที่ได้ปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ขึ้นในครั้งนี้ แสดงถึงความตั้งใจพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ใหม่ด้านศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ หวงแหน และภาคภูมิใจในมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติอีกทางหนึ่งด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายใน โดยนำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการของเมืองนครปฐม ที่สอดคล้องกับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16) แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น เรื่องราวในอดีตของนครปฐมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีผ่านโบราณวัตถุ เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ จากจารึกสำคัญที่ค้นพบในเมืองนครปฐม แนะนำสภาพภูมิศาสตร์ของนครปฐมโดยสังเขป อีกทั้งจัดแสดงเรื่องราวของศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีในนครปฐม จากหลักฐานโบราณวัตถุที่ค้นพบในบริเวณเมืองโบราณนครปฐม และส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของนครปฐมหลังจากวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลงจนกระทั่งถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ จารึกวัดพระงาม พระพุทธรูป ประติมากรรมประดับศาสนสถาน พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ธรรมจักร ทั้งนี้ กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ชมนิทรรศการได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปกรรมของไทย อีกทั้งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการศึกษา “ทวารวดี” ในเมืองนครปฐมโบราณ อันเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในทางวิชาการ