การนำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยอธิบายสิ่งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการของโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ด้วยการใช้ข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางพันธุศาสตร์ (Genomics) จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคทำนายโรค และเข้าใจพัฒนาการของเชื้อก่อโรคต่างๆ ในมนุษย์ได้ถึงระดับดีเอ็นเอ หรือสารพันธุกรรมที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติได้ต่อไปในอนาคต เป็นที่มาของวัตถุประสงค์"โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย" (Genomics Thailand) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของวงการสาธารณสุขไทย ที่จะเปิดศักราชใหม่ของการวิจัยทางพันธุศาสตร์ของมนุษย์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ (Pornchai Matangkasombut Center for Microbial Genomics) หรือ CENMIG ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้เกิด "โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย"(Genomics Thailand) กล่าวว่า เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่โลกสามารถค้นพบการหาลำดับสารพันธุกรรมในมนุษย์จาก Human Genome Project (HGP) 1990 - 2003 ขึ้นเป็นครั้งแรก ต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 15,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท) แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ในปัจจุบันสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ลงถึงประมาณ 1 ล้านเท่า หรือเหลือเพียงประมาณ 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ต่อรายเท่านั้น
จึงพบว่าหลายประเทศที่เป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกต่างพร้อมทุ่มเทลงทุนศึกษาวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของมวลมนุษยชาติและสามารถทำให้ประชากรโลกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่อาจสามารถตอบโจทย์ได้โดยจำเพาะระดับบุคคล และมีประสิทธิภาพ
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ มองว่าคนไทยมีความพร้อมทั้งทางด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี หากแต่ยังต้องรอให้มีความพร้อมที่เพียงพอในการสร้างระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมที่จะมารองรับโครงการดังกล่าวเสียก่อน โดยจะต้องมีการวางแผนเตรียมการทั้งด้านการจัดการข้อมูล ที่ครอบคลุมในด้านการจัดเก็บข้อมูล การส่งต่อข้อมูล การรักษาความลับข้อมูล ไปจนถึงแง่มุมทางกฎหมาย และจริยธรรมที่เกี่ยวข้องด้วย
ซึ่งการหาลำดับสารพันธุกรรมในมนุษย์ (Genomics Sequencing) มีความจำเป็นจะต้องริเริ่มให้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไปพร้อมๆ กับการศึกษาข้อมูลทางมานุษยวิทยา(Anthropology) เนื่องจากมีลักษณะทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่คาดว่าคนไทยจะได้เห็นความคืบหน้าจาก "โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย"(Genomics Thailand) อย่างแน่นอนในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ คือ การเดินหน้าเก็บข้อมูลในคนไทยจำนวน 50,000 คน เพื่อนำมารวบรวมที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหรับนักวิจัยที่เกี่ยวข้องภายในประเทศได้ใช้เป็นฐานข้อมูลกลางต่อไป
โดยประชากรซึ่งอยู่ในกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนที่จะได้เข้ารับการทำ Genomics Sequencing เป็นลำดับแรก ได้แก่กลุ่มเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติ ซึ่งให้การวินิจฉัยไม่ได้ตลอดไป จนถึงโรคที่อาจรู้จักกันอยู่แล้ว อาทิ โรคไทรอยด์และธาลัสซีเมีย ฯลฯ ซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมจะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่หายขาดได้
นอกจากนี้ ยังได้มองไปที่กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อต่างๆ อาทิ COVID-19 และวัณโรค ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยนำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อีกด้วย
"โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย"(Genomics Thailand) เป็น "ความพยายาม" ของคนไทยเพื่อการมุ่งสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการได้รับการดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคนไทย เพียงความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านใดด้านหนึ่งหรือเพียงสถาบันเดียว ไม่อาจนำพาประเทศชาติให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยการมองไปที่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อประโยชน์ของทุกคนในชาติ "ความพยายาม" นั้นจึงจะสามารถแปลงเปลี่ยนเป็น "พลัง" ที่จะทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลได้อย่างแท้จริง" ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล