การสหกรณ์ไทยกำเนิดในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจของชนบทมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองในครอบครัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ความต้องการเงินลงทุนและการครองชีพจึงต้องมีเพิ่มขึ้น แต่ข้อจำกัดของเกษตรกรไทยโดยเฉพาะชาวนามีมากมาย ที่สำคัญคือการขาดแคลนเงินทุน การถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า ตลอดจนสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้เกิดสภาพความยากจนของเกษตรกรไทยในสมัยนั้น จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลต้องการหาทางช่วยเหลือ โดยได้นำระบบสหกรณ์มาใช้ และทดลองตั้งสหกรณ์หาทุนไม่จำกัดสินใช้เป็นแห่งแรกที่จังหวัดพิษณุโลกใช้ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 นับแต่นั้นมากิจการสหกรณ์ได้แพร่ขยายเป็นอย่างมากถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีสหกรณ์ 7,677 สหกรณ์ โดยแยกเป็นสถานะดำเนินกิจการ จำนวน 6,380 สหกรณ์ ยังไม่เริ่มดำเนินการ จำนวน 33 สหกรณ์ อยู่ระหว่างการเลิกสหกรณ์และชำระบัญชี จำนวน 1,264 สหกรณ์ มีสมาชิกทั้งสิ้น 11,363,895 คน) รัฐบาลได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าระบบสหกรณ์จะมีบทบาทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นมาต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ กิจกรรมทั้งหลายที่สหกรณ์ดำเนินการเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เราอาจแยกสหกรณ์เป็น 2 ภาค คือภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร หากเรามองตามห่วงโซ่อุปทานเริ่มต้นจากการผลิตสินค้าจนถึงกระบวนการแปรรูปเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายโดยตรง หรือผ่านช่องทางต่างๆ การซื้อขายสินค้าและบริการ การรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ ฯ จะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจของสหกรณ์มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอันไม่อาจปฏิเสธได้ และในแต่ละสหกรณ์ก็มีกิจกรรมด้านสังคมไม่ว่าจะเป็นการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก และการสนับสนุนงานด้านสังคมและชุมชน ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สหกรณ์นั้นตั้งอยู่ จึงสามารถกล่าวได้ว่า สหกรณ์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันและที่ผ่านมาต่างให้ความสำคัญ และใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศมาโดยตลอด แต่จากข้อมูลสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการเลิกสหกรณ์และชำระบัญชี จำนวน 1,264 สหกรณ์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องถอดบทเรียนและนำไปแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สหกรณ์เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป