วันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น. ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ. นครราชสีมา รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อร้ายแรงในพื้นที่ 32 อำเภอ พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,872 ราย อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง 218 ราย อ.ปากช่อง 153 ราย อ.พิมาย 152 ราย อ.บัวใหญ่ 73 ราย อ.ด่านขุนทด 161 ราย อ.โชคชัย 45 ราย อ.ครบุรี 101 ราย อ.ชุมพวง 58 ราย อ.สูงเนิน 66 ราย อ.สีคิ้ว 3 ราย อ.ปักธงชัย 119 ราย อ.ประทาย 1 ราย อ.จักราช 63 ราย อ.โนนไทย 2 ราย อ.โนนแดง 18 ราย อ.คง 81 ราย อ.ขามสะแกแสง 29 ราย อ.ขามทะเลสอ 52 ราย อ.แก้งสนามนาง 34 ราย อ.ห้วยแถลง 106 ราย อ.วังน้ำเขียว 47 ราย อ.บ้านเหลื่อม 23 ราย อ.เฉลิมพระเกียรติ 52 ราย อ.โนนสูง 153 ราย ราย อ.สีดา 16 ราย อ.บัวลาย 46 ราย ยอดป่วยสะสม 49,864 ราย รักษาอยู่ 22,131 ราย รักษาหาย 27,662 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 2 ราย เป็นหญิง อายุ 72 ปี ต.พลับพลา อ.ห้วยแถลง โรคประจำตัวเบาหวาน ไม่ได้ฉีดวัคซีน และชายอายุ 60 ปี ต.กุดน้อย อ.สีคิ้ว โรคประจำตัวเบาหวาน หลอดเลือดสมอง มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม เสียชีวิตสะสม 71 ราย ทั้งนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยความคืบหน้าการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งบ้านเมตตา อ.เมือง พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม เป็นบุคลากรทำหน้าที่อยู่ภายในโรงครัว ต่อมามีการค้นหาเชิงรุกในวันที่ 14 มีนาคม และตรวจต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สอบสวนโรคสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยเป็นผู้ค้าตลาดสุรนารีนำวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารเช่นผักและสินค้าบริโภคอื่น ๆ นำเชื้อมาติดเจ้าหน้าที่และแพร่เชื้อในกลุ่มแม่ครัวทำให้เกิดปัญหาไม่มีผู้ประกอบอาหาร ต่อมาได้คัดแยกผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาภายใต้การดูแลของบุคลากรศูนย์แพทย์วัดบูรพ์และโรงพยาบาลเทพรัตน์รวมทั้งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้จัดเตรียม HI รองรับ โดยปิดสถานสงเคราะห์เพื่อจัดเตรียมเป็นโรงพยาบาลสนาม อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่มี 50 ราย เป็นผู้ที่มีภาวะโรคประจำตัวและน้ำหนักเกินจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.มหาราช สถานการณ์ล่าสุดพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 24 ราย ลูกบ้านติดเชื้อ 416 ราย ป่วยสะสม 440 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้น นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งโรงทานสนับสนุนอาหารแก่ผู้กักตัวและปิดชั่วคราว เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังชุมชนใกล้เคียง