รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล"ระบุว่า... ตัวเลขวันนี้ยังไม่นิ่ง สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 มีนาคม 2565 https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page... ได้เผยแพร่ออกสู่สายตาของผู้รอคอยแล้ว แม้วิธีการเรียบเรียงและนำเสนอ รวมถึงการใช้ถ้อยคำจะยังไม่ได้ขัดเกลาให้เรียบร้อยและมีความคงเส้นคงวา แต่ก็คงพอนำไปใช้ได้ไม่คลาดเคลื่อน สำหรับหน่วยงานอื่นเช่นบริษัทประกันภัย ไม่รู้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกตัดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร สิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันน่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันในกรมธรรม์ ไม่เกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษาที่เป็นข้อตกลงกันในเฉพาะหมู่แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่ถกเถียงกันในหมู่แพทย์ คือยาฟาวิพิราเวียร์ที่แพทย์ไทยส่วนใหญ่เห็นว่าได้ผลดีในการระบาดสามระลอกที่ผ่านมา แต่ในช่วงกลางของการระบาดระลอกสี่จากสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเรามีการฉีดวัคซีนโควิดกันได้มากขึ้น แพทย์บางท่านเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ชักไม่เหมือนเก่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วยกว่าเจ็ดร้อยรายในประเทศไทยช่วงการระบาดระลอกแรกต่อระลอกสอง การรักษาเร็วภายใน 4 วันหลังมีอาการช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ สำหรับการศึกษาแบบไปข้างหน้าในผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลางราวหนึ่งร้อยรายที่อยู่ในช่วงระลอกสองถึงต้นระลอกสี่ การได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็วภายในสองวันหลังมีอาการ ช่วยทำให้อาการเช่น ไข้ เจ็บคอ ดีขึ้นเร็ว แต่ไม่ช่วยให้การกำจัดไวรัสหมดไปเร็วขึ้น และไม่ช่วยลดการลุกลามต่อไปของโรค ข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในญี่ปุ่นสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่าแปดพันราย ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่ต้องให้การรักษาด้วยออกซิเจน ในช่วงตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงก่อนเดลต้าระบาด พบว่าการให้ยาเร็วตั้งแต่ภายใน 4 วันแรกหลังเริ่มมีอาการ ไม่ได้ช่วยลดการลุกลามของโรคจนถึงขั้นต้องรักษาด้วยออกซิเจน รวมถึงไม่เปลี่ยนแปลงอัตราการลุกลามของโรคไปจนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม อีกทั้งไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตภายในหนึ่งเดือนหลังป่วยด้วย จากผลการวิจัยนี้ทำให้ความนิยมของแพทย์ญี่ปุ่น ต่อการรักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรงตั้งแต่ในระยะแรกด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ลดน้อยไปกว่าเดิมมาก อีกทั้งส่งผลให้ความสนใจการศึกษาสรรพคุณยานี้สำหรับโควิดในอนาคตด้อยลงไปด้วย https://link.springer.com/.../10.1007/s40121-022-00617-9.pdf ลักษณะคงคล้ายกับเมื่อครั้งการระบาดและช่วงเข้าสู่การหยุดระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เมื่อคนเริ่มฉีดวัคซีนกันมากขึ้น การใช้ยาโอเซลตามิเวียร์ที่เคยใช้ได้ดีก็จะมีประโยชน์เฉพาะในกลุ่มคนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือผู้ป่วยที่มีลักษณะทางคลินิกรุนแรงในหนึ่งถึงสองวันแรกหลังมีอาการ ดังนั้นส่วนตัวแล้วคิดว่าในยุคที่มีการฉีดวัคซีนเข็มมาตรฐานกันแพร่หลาย และผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาตามแนวทางของประเทศไทยฉบับล่าสุด น่าจะลดลงไปกว่าคำแนะนำที่ออกมา และน่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เข้าใจเหตุผลในการให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ดีมากขึ้น และลดข้อขัดแย้งหน้างานที่ไม่จำเป็น