วันที่ 24 มี.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat ระบุว่า...
ทะลุ 475 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,631,096 คน ตายเพิ่ม 4,295 คน รวมแล้วติดไปรวม 475,796,558 คน เสียชีวิตรวม 6,126,926 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.22
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 37.69 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.61
...สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก
...อัพเดตงานวิจัย
1. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน ChAdOx1 และ Ad26
Kim AY และคณะ เผยแพร่งานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมาน ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อระดับสากล International Journal of Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 23 มีนาคม 2565
โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันอยู่ที่ 28 ครั้งต่อการฉีดวัคซีน 100,000 โดส
บริเวณที่เกิดอุดตันบ่อยได้แก่ หลอดเลือดดำในสมอง 54%, หลอดเลือดดำในปอดหรือขา 36%, และในช่องท้อง 19%
การเกิดลื่มเลือดอุดตันนั้นมักพบบ่อยในเพศหญิง และพบในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี
คนที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นมีถึง 91% ที่ตรวจพบ antiplatelet factor 4 (anti-PF4) antibody
อัตราการเสียชีวิตหากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 32%
2. หลังฉีดวัคซีน หรือหลังติดเชื้อ พบว่าภูมิคุ้มกันระดับเซลล์คงอยู่ไปถึงอย่างน้อย 15 เดือน
Wragg KM และคณะ จากประเทศออสเตรเลียทำการศึกษาพบว่า หลังฉีดวัคซีน หรือหลังเกิดการติดเชื้อ แม้ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนติบอดี้จะลดลงไป แต่พบว่าภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ T cells นั้นขึ้นโดยอยูระดับคงที่ตั้งแต่ 6 เดือน และคงอยู่ได้นานถึง 15 เดือน
3. ติดโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน
Scherer PE และคณะ ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์ ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ยืนยันว่า หลังติดเชื้อโควิด-19 ไป แม้จะรักษาหายไปแล้ว แต่จะเกิดผลกระทบระยะยาว หรือ Long COVID ซึ่งส่งผลกระทบได้หลายระบบในร่างกาย รวมถึงปัญหาการเกิดโรคเบาหวาน
ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
...ยืนยันว่าด้วยการระบาดทั่วโลกยังรุนแรง และการระบาดในประเทศไทยก็ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ติดอันดับโลกดังที่เห็นจากตัวเลขรายวัน การประกาศจะให้เป็นโรคประจำถิ่นจึงเป็นไปได้ยาก
การระมัดระวังเสมอ ป้องกันตัวสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร ไม่ได้แปลว่าต้องหยุดใช้ชีวิตหรือหยุดทำมาหากิน
เลิกสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดมายาคติ ปลุกปั่น มอมเมา ให้คนเข้าใจผิดว่าจะทำมาหากินได้ก็ต่อเมื่อจะต้องประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ไม่กลัวติดโรค ไม่ป้องกันตัว และหวนกลับไปทำตัวเหมือนอดีตก่อนการระบาด
แนวคิดมายาคติข้างต้นจะนำไปสู่การติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากมายในสังคม เรียกร้องเสรีการใช้ชีวิต แต่ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำที่ทำให้คนอื่นในสังคมเดือดร้อนจากการติดเชื้อ ป่วย ตาย หรือทุพลภาพระยะยาวจาก Long COVID
ใช้ชีวิต ทำมาหากิน แต่ทำอย่างปลอดภัย มีสติ ป้องกันตัวอย่างดี ก็จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อได้
เคร่งครัดมาก ความเสี่ยงก็จะน้อยลงตามลำดับ
อนาคตของการใช้ชีวิตโดยยังมีโรคระบาดนั้น ไม่ใช่การใช้ชีวิตในรูปแบบอดีตที่อันตรายและไม่เหมาะสมกับสังคมที่มีโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID
อ้างอิง
1. Kim AY et al. Thrombosis patterns and clinical outcome of COVID-19 vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia: A Systematic Review and Meta-Analysis. Int J Infect Dis. 23 March 2022.
2. Wragg KM et al. Establishment and recall of SARS-CoV-2 spike epitope-specific CD4+ T cell memory. Nature Immunology. 21 March 2022.
3. Scherer PE et al. Post-acute sequelae of COVID-19: A metabolic perspective. eLife. 23 March 2022.