ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ...
ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology ทำการเก็บข้อมูลจากประชากรกว่า 8.5 ล้านคน โดยในจำนวนประชากรเหล่านั้น มีผู้เคยป่วยด้วยโควิด-19 ถึง 181,000 คน โดยทีมวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี หลังจากป่วยเป็นโควิด โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่จำกัดอยู่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น นอกจากนั้นความเสี่ยงที่สูงขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆที่เอื้อให้ผู้ป่วยรายนั้นเป็นเบาหวาน เช่น น้ำหนักตัวที่มาก ความดันโลหิตสูง คนที่สุขภาพแข็งแรงก่อนติดโควิดมีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน ตัวเลขที่รายงานมาในการศึกษานี้บอกว่า ในทุก 100 คนที่ติดโควิดจะมีถึง 2 คน ที่จะมีอาการของโรคเบาหวานภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Long Covid ที่อยู่นอกระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบประสาท แบบที่ทราบกันมา
ถ้าตัวเลขที่การศึกษานี้เป็นจริง ประชากรที่จะเป็นเบาหวานจะมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียวครับ เบาหวานเมื่อเป็นแล้วอยู่กับคนนั้นไปตลอดชีวิต เป็นภาระทางสาธารณสุขที่สำคัญ คิดง่ายๆว่า คนติดโควิด 1 ล้านคน จะมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นอีก 2 หมื่นคนครับ
โควิดติดแล้วอาการไม่หนักรักษาหายได้ แต่ความเสี่ยงอะไรแบบนี้เรายังมีข้อมูลน้อยมากครับ ยังไงก็ไม่ควรเสี่ยงไปติดเชื้อไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ