โดยแนวโน้มสายพันธุ์ที่ตรวจพบในไทยเป็นโอไมครอน BA.2 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 ยังเจอประปราย ส่วนเดลตาครอนนั้นได้ส่งยื่นตรวจเดลตาครอนกับ GISAID ไปแล้วและเข้าข่าย 73 ราย ทั่วโลกพบเดลตาครอนแล้ว 64 ราย รอผลตรวจอีกกว่า 4 พันราย ย้ำการฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์ยังสำคัญ เพราะหากมีภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน
23 มี.ค.2565 ที่กระทรวงวาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12-18 มี.ค. 2565 จำนวน 1,982 ราย เจอสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 1 ราย คิดเป็น 0.05% ที่เหลือทั้งหมด 1,981 รายเป็นโอไมครอน คิดเป็น 99.95% เรียกว่าโอไมครอนครองประเทศไทยเกือบ 100% แล้ว ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน พบ BA.2 จำนวน 1,479 ราย คิดเป็น 78.5% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่พบ 51.% และ 67.6% ขณะที่ตัวอย่างจากการติดเชื้อภายในประเทศ เป็น BA.2 ถึง 82.9% ซึ่งคาดว่าจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความแตกต่างเรื่องความรุนแรง แต่แพร่เร็วกว่า ทำให้ตรวจจับได้มากกว่า โดยขณะนี้เกือบทุกเขตสุขภาพเป็น BA.2 มากกว่า BA.1 ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 ที่อาจมีการตรวจน้อย ทำให้พบสัดส่วนที่น้อยกว่า ส่วนเขตสุขภาพที่ 4 พบสัดส่วน BA.2 สูงสุด 90%
ทั้งนี้จากการตรวจสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน ที่มีการสุ่มตรวจจากทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งทุกกลุ่มมีสัดส่วนการติดเชื้อเป็น BA.2 ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างจากภาพรวม อย่างกลุ่มที่เสียชีวิตพบ BA.2 ประมาณ 60% ดังนั้น BA.2 จึงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชทำให้เสียชีวิตมากขึ้น
ส่วนกรณีสายพันธุ์ BA.2.2 ในฮ่องกง ขณะนี้ก็เงียบไปแล้ว และไม่ได้มีการยืนยันว่า การเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นมาจาก BA.2.2 หรือไม่ นอกจากนี้ ทาง GISAID ก็ยังไม่ได้ประกาศชื่อ BA.2.2 หรือ BA.2.3 อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่เร็ว ความรุนแรง หรือการหลบวัคซีน ส่วนประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 500-600 รายต่อสัปดาห์ พบว่า BA.2.2 ในประเทศ 14 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย และ BA.2.3 ในประเทศ 27 ราย ต่างประเทศ 34 ราย ซึ่งสัดส่วนก็สอดคล้องกับ GISAID ที่พบ BA.2.2 น้อยกว่า BA.2.3 ซึ่งการกลายพันธุ์ส่วนนี้ไม่ได้มีผลอะไรก็อาจจะหายไป
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สรุปแล้วประเทศไทยเป็นโอไมครอนเกือบทั้งหมด เดลต้าหายาก ส่วนอัลฟ่า (อินเดีย) และเบต้า (แอฟริกาใต้)หายไปหมดแล้ว สายพันธุ์ย่อยโอไมครอนเป็น BA.2 ขึ้นมาเกือบ 80% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยจะตรวจว่ามีการเพิ่มมากน้อยแค่ไหน
ส่วนเดลตาครอนขณะนี้ GISAID ยืนยันอย่างเป็นทางการ 64 ราย ยังรอการวิเคราะห์ทวนสอบข้อมูลอีก 4 พันกว่าราย ยังเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ ส่วนมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ได้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะโอไมครอนหลบภูมิได้เยอะ หากมีภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน
สำหรับเดลตาครอนในประเทศไทยนั่น ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไปเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็นเดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2564- ม.ค. 2565 ซึ่งยังมีเดลต้ากับโอไมครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ และแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป