รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับปัญหาการจ่ายเคลมเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะปัญหาการเจ้าระบบการเบิกจ่ายเคลมประกันโควิดเจอจ่ายจบของบมจ.อาคเนย์ประกันภัยและบมจ.ไทยประกันภัย โดยล่าสุดมีกระแสข่าวว่าพนักงานที่รับดำเนินการในเรื่องเคลมทั้งหมดจะทำงานถึงวันที่31มีนาคม2565 เท่านั้น ในส่วนการขายทรัพย์สินของบมจ.อาคเนย์ประกันภัยนั้นอยู่ระหว่างคปภ.ดำเนินการพิจารณาอนุมัติโดยปัจจุบันอาคเนย์ฯมีด้วยกัน74สาขา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีที่เป็นสาขาของอาคเนย์ประกันชีวิตด้วย ก็คงต้องแยกออกมา
ต่อเรื่องนี้นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าได้สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาการจ่ายเคลมประกันโควิดโดยเร็วที่สุด
โดยปัจจุบันทราบมาว่าบมจ.อาคเนย์ มียอดค้างที่บันทึกเข้าระบบเคลมไว้ล่าสุดประมาณ 13,000 กรมธรรม์ เป็นมูลค่าสินไหมกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับก่อนหน้านี้เท่าที่คปภ.เข้าไปตรวจสอบก็พบปัญหาหลายจุด ในกระบวนการจ่ายเคลมก็คือ จากผลพวงกรณี บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เหลือจำนวนพนักงานน้อยที่จะรองรับการทำเคลม และการยื่นเอกสารไม่ครบ ทำให้มีปัญหาจ่ายเคลมล่าช้า ล่าสุดบริษัทอาคเนย์ประกันภัย กำลังอยู่ระหว่างการขายทรัพย์สินและรวบรวมเงินจากแหล่งอื่นๆที่บริษัทมีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นายสุทธิพล กล่าวว่า ส่วนการเพิ่มทุนของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ในเบื้องต้น บริษัทแจ้งว่ากลุ่มทุน ไม่ประสงค์จะเพิ่มให้ แต่คปภ. ได้ให้ทางบริษัทดังกล่าวกลับไปทบทวนเรื่องการเพิ่มทุน เพราะทางคปภ. ได้แจ้งไปว่า กรณีนี้ต่างจากสองบริษัทก่อนที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตไป เพราะ เป็นกลุ่มทุนมีศักยภาพและมีทุนทรัพย์ หากสามารถทำตามที่เคยแจ้งกับทางคปภ.ว่าจะดูแลประชาชนผู้เอาประกัน ก็จะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยไม่เดือดร้อน
ทั้งนี้ การเพิกถอนใบอนุญาตจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่ไม่มีทางเลือกอื่น หากกลุ่มบริษัทไปทบทวนแล้วยังยืนยันที่จะไม่เพิ่มทุน ส่วนเรื่องการไม่บันทึกเคลมให้เป็นปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย
“การดำเนินการของคปภ.จะคู่ขนานกันไป คือทางคปภ. ได้เร่งรัดให้บริษัทขายทรัพย์สิน ตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนดแล้ว เพื่อได้เงินมาจะรีบให้บริษัทเร่งจ่ายเคลมโดยเร็วที่สุด คปภ.จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนผู้เอาประกันภัย"
สำหรับความเคลื่อนไหวของกรณีการเรียกร้องค่าสินไหมค่าชดเชยรายวันของผู้เอาประกันโควิดของทิพยฯนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่22 มี.ค.2565 ทางคปภ. ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร บมจ. ทิพยประกันภัยไปแล้ว ทางบริษัท ก็รับว่า จะปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติและคำสั่งคปภ. แม้ในกรมธรรม์จะไม่ได้ระบุความคุ้มครองถึงกรณีการจ่ายเคลมกรณีผู้ป่วย HI-CI-Hotel Isolation ก็ตาม ทั้งนี้เงื่อนไขการจ่ายของทางบริษัททิพยฯจะยึดหลักเกณฑ์พิจารณาตามความจำเป็นของแพทย์ โดยต้องถือตามดุลพินิจของแพทย์เป็นหลัก
อนึ่งอัพเดทยอดเคลมประกันโควิด-19 ล่าสุดของคปภ.ถึงเดือนก.พ. 2565 มีจำนวนเคลมทั้งสิ้น 47,600 ล้านบาท แยกเป็นเจอจ่ายจบ จำนวน 38,900 ล้านบาท และอื่นๆ (ค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้) จำนวน 8,700 ล้านบาท