วันที่ 23 มีนาคม 2565 เวลา 06.30 น. ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา นายไชยนันนท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการร่วมประกอบพิธี “ฉลอง 554 ปี เมืองโคราช” กิจกรรม “ทำบุญเมืองนครราชสีมา” โดยนายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าใต้โต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์พร้อมพระสมณศักดิ์จำนวน 10 รูป สวดมาติกาบังสุกุล เจ้าหน้าที่ลาดผ้าขาวรองโยง ลาดภูษาโยงและเชื่อมภูษาโยง ทอดผ้าไตรบังสุกุล 10 ชุด พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ อนุโมทนา กรวดน้ำรับพร จากนั้นพระสงฆ์-สามเณร 554 รูป ออกรับบิณฑบาต ซึ่งมีชาวโคราชหลายร้อยคนมารอตักบาตรกันอย่างชื่นมื่น
นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สืบค้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบชื่อเมืองนครราชสีมาเป็นครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตรา 3 ดวง สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม 2011 นับถึงปัจจุบัน 554 ปี จึงจัดทำบุญเมืองนครราชสีมา ตักบาตรพระสงฆ์ สามเณรจำนวน 554 รูป ครบตามจำนวนปี ขณะนี้ยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ต้องงดจัดงานสมโภชน์วันฉลองวันชัยชนะท้าวสุรนารี คงเหลือแต่พิธีรำบวงสรวงย่าโมและลดจำนวนนางรำไม่เกิน 5,000 คน แบ่งจัดวันละไม่เกิน 500 คน กำหนดกิจกรรมเวลา 17.30 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 23-27 มี.ค นี้ ขอเชิญชวนชาวโคราชมาร่วมให้กำลังใจนางรำด้วย
ทั้งนี้วันที่ 23 มี.ค 2565 ตรงกับเหตุการณ์เมื่อ 196 ปีที่ผ่านมาหรือวันที่ 23 มี.ค พ.ศ.2369 คุณหญิงโมได้นำครอบครัวชาวโคราชซึ่งถูกเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์นครคิดกบฏต่อกรุงรัตนโกสินทร์ ยกกองทัพชาวลาวมายึดครองจังหวัดนครราชสีมาและกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึก แต่คุณหญิงโมได้วางกลอุบายต่อสู้อย่างกล้าหาญจนได้รับชัยชนะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี” วีรสตรีกู้ชาติ พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ
นอกจากนี้ยังปรากฏการณ์ธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับช่องประตูชุมพลอย่างคึกคัก พบชาวโคราชพากันเซลฟี่เป็นที่ระลึกพร้อมถือโอกาสสักการะอธิษฐานขอพรย่าโม เนื่องในโอกาสวันฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ส่วนหนึ่งมีความเชื่อสามารถรับพรจากสุริยเทพ เสริมพลังกายและพลังใจหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับดาราศาสตร์ โดยสมาคม ALET และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้คำนวณ “พิกัดดาราศาสตร์” (Astronomical alignment) ที่ประตูชุมพลและอนุสาวรีย์ย่าโม ด้วยวิธี shadow plot ยืนยันประตูชุมพลและตัวเมืองโคราชโบราณถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต” ในปฏิทินมหาศักราช เมื่อครั้งอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ถือเป็นประวัติศาสตร์กับดาราศาสตร์เชิงประจักษ์