เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ #เส้นแสงดาว (Star trails) เป็นภาพถ่ายที่สามารถใช้บ่งชี้ถึงค่าทัศนวิสัยหรือคุณภาพท้องฟ้าของสถานที่นั้นๆ ได้ ภาพเส้นแสงดาวที่มีแสงดาวสว่างต่อเนื่องไม่ขาด แสดงให้เห็นถึงสภาพท้องฟ้าของตลอดทั้งคืนว่ามีทัศนวิสัยดีเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สำหรับภาพถ่ายเส้นแสงดาวภาพนี้ บันทึกในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล อาโอรากิ แมคเคนซี (Aoraki Mackenzie) ประเทศนิวซีแลนด์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ที่มีความโดดเด่น เหมาะสำหรับนักดูดาวและนักถ่ายภาพที่หลงใหลความสวยงามของดวงดาวภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท ในภาพนี้ผู้ถ่ายต้องอาศัยความอดทนรอคอยในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องหลายชั่วโมง เพื่อให้ได้แสงดาวที่ยาวที่สุด ซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้เรามองเห็นดาวบนท้องฟ้ามีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง โดยดาวทุกดวงเคลื่อนที่หมุนรอบบริเวณขั้วใต้ของท้องฟ้านั่นเอง ทั้งนี้ การเคลื่อนที่ของเส้นแสงดาวจะต่างกันไป บางภาพดาวจะเคลื่อนที่เป็นวงกลม บางภาพเป็นแนวขวาง เฉียงไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ตามตำแหน่งละติจูดของสถานที่นั้นๆ เนื่องจากโลกเราหมุนในลักษณะรอบแกนของตัวเอง ซึ่งแกนที่ว่าก็คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ยกตัวอย่าง เมื่อเราหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ ซึ่งเป็นแนวแกนหมุนของโลก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆ ขั้วฟ้า แต่หากเราหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง ซึ่งการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าหมุนรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 1 วัน (24 ชั่วโมง) ทำให้เรามองเห็นดาวฤกษ์เคลื่อนที่ไปตามทรงกลมท้องฟ้าด้วยอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง ดังนั้น หากเราต้องการภาพเส้นแสงดาวที่มีความยาวมากๆ ก็จะต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพนานขึ้นตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าไปด้วยนั้นเอง ในอดีต เส้นแสงดาวที่ถ่ายโดยกล้องฟิล์มจะถ่ายด้วยการเปิดหน้ากล้องค้างไว้นานนับชั่วโมง ซึ่งภาพที่ได้ก็จะเป็นเส้นแสงดาวเส้นเล็กๆ แต่มักไม่ยาวมากนัก เนื่องจากการเปิดหน้ากล้องค้างไว้นานๆ แสงก็จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยิ่งใช้เวลาถ่ายภาพนานเท่าไหร่ ภาพก็จะสว่างมากขึ้นเท่านั้น และอาจทำให้ภาพสว่างมากเกินจนขาดรายละเอียด ในปัจจุบันวิธีการถ่ายภาพภาพเส้นแสงดาวนั้น เราจะใช้วิธีการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้วนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาวที่สวยงามดังภาพ ภาพ : นายธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร."