สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
“พระพุทธองค์ผจงเจิดบรรเจิดฟ้า
เป็นรูปมาระวิชัยปราบภัยหนี
ศิลป์อู่ทองรุ่นแรกสรรค์โบราณมี
เรืองรวีเรียก 'หน้าแก่' แลวิไล
ยอดพระเกศเป็นปลีรัตน์ระบัดเด่น
พระพักตร์เป็นเหลี่ยมวิมุติพิสุทธิ์ใส
พระนลาฏเส้นขอบกั้นนิรันดร์ไป
ขนงซ้ายขวาบรรจบประสบกัน
พระเนตรวาวด้วยมุกงามอร่ามจับ
ระยิบระยับประทับเด่นเป็นแสงขวัญ
แข้งสันเด่นคางคนตามคำกล่าวกัน
ผิวะพรรณสำริดประสิทธิ์ชัย
พระหัตถ์ใหญ่ตำราครูผู้สอนสั่ง
ประทับนั่งฐานสำเภาเรื่องราวร่าย
เปรียบประดุจเทพนิมิตรประดิษฐ์กาย
อุบัติไว้ในโลกหล้าสาธุการ
เป็นอู่ทองรุ่นแรกรุดสุดพร้อมพรั่ง
เมืองเก่าดั่งเนรมิตรวิจิตรขาน
ก่อนสร้างกรุงอยุธเยศเกศตระการ
ดั่งพิมานลอยจากฟ้าลงมาดิน
'อยุธยาศรีรามร่วมแหล่งรวมเทพ
เทวฤทธิ์สิทธิเสพภิเษกสิน
มาภายหลังจึงลาร้างจางจรจินต์
ลมรวยรินเหลือพระพุทธวิสุทธิธรรม์
กราบปฏิมาสง่าองค์ทรงประจักษ์
ให้ตระหนักอู่ทองแท้เป็นแน่นั่น
ต้นกำเนิดศิลป์สืบมาอย่างช้านาน
ขอพรพรรณเกษมสุขทุกวันคืน”
ศิลปะสกุลช่างที่รังสรรค์งานประติมากรรมสัมฤทธิ์ออกมาเป็นองค์พระพุทธรูปที่เรียกขานกันว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ซึ่งแตกต่างจากศิลปะ "อู่ทองสุวรรณภูมิ"
ศิลปะพระพุทธรูปอู่ทองนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยา มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 20 หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ อดีตหัวหน้ากองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุกระทรวงธรรมการและหัวหน้ากองโบราณคดี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ศิลปะแบบอู่ทองนั้นคลี่คลายมาจากการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบทวารวดีกับศิลปะ ขอม กล่าวคือ การที่ขอมเข้ามามีอำนาจในแหลมอินโดจีนมิได้ทำให้งานทางศิลปกรรมของ "รัฐ" ดั้งเดิม อันได้แก่ ทวารวดีหยุดชะงักลง หากแต่ยังคงสืบทอดต่อเนื่องโดยคติความเชื่อแบบพุทธหินยานผสมกลมกลืนกับลักษณาการอันเข้มขลังของคติขอม
พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงคุณค่าของ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองในงาน "เรื่องประติมากรรมไทย" ว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง "ศิลปะอู่ทองมีค่ายิ่งกว่าของอยุธยาและรัตนโกสินทร์ โดยเหตุที่มีแบบวิธีแปลกและมีคุณค่าของศิลปะอู่ทอง เป็นอาการปรากฏดีที่สุดในหมู่สกุลช่างต่างๆ ของพระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัยและศิลปะอู่ทองนั้นมีลักษณะตรงกันข้าม ศิลปะสุโขทัยมีวงรูปนอกและรายละเอียดประณีตสุขุม ทำให้เห็นอย่างบริบูรณ์ซึ่งพระรูปโฉมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนศิลปะอู่ทองมีลายเส้นคร่ำเคร่งและตึงเครียด และมีลายเส้นขนาดใหญ่ เป็นอาการสำแดงบ่งให้เห็นว่าพระพุทธองค์ยังมีอำนาจแห่งจิตที่จะเอาชนะแก่ โลกีย์ และค้นหาทางหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดให้ถึงซึ่งวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง)"
เราอาจแบ่ง พระพุทธรูปอู่ทอง ได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 1 หรืออู่ทองหน้าแก่ พบในเขตเมืองสรรคบุรี จ.ชัยนาท มีพระพักตร์เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง เม็ดพระศกคมชัด ความกว้างของพระนลาฏรับกับแนวพระขนงที่ต่อกันคล้ายปีกกา พระหนุป้านเป็นอย่างที่เราเรียกว่า คางคน
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 2 หรืออู่ทองหน้ากลาง จะมีพัฒนาการคลายความเคร่ง ขรึมที่พระพักตร์ลง มีลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆ ลดอิทธิพลทางศิลปะแบบขอมลง ตัวอย่างได้แก่ พระเจ้าพนัญเชิง หรือพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง จ.พระนคร ศรีอยุธยา
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 3 หรืออู่ทองหน้าหนุ่ม มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากขึ้น พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏแคบ พระวรกายเพรียวบางครั้งพบในลักษณะแข้งคมเป็นสัน เรียกว่า แข้งสัน พบมากในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระพุทธรูปอู่ทอง นับเป็นต้นแบบของการสร้าง "พระผงสุพรรณ" หนึ่งในพระยอดนิยมของไทยชุดเบญจภาคี ที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์ อีกทั้งลักษณะการแบ่งจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อก็เหมือนกันคือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม ครับผม