ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“วิถีของความเป็นหนุ่มสาวมีคุณค่าเสมอในความเป็นชีวิตหนึ่ง ยิ่งหากได้มีการเรียนรู้และหยั่งรู้ประสบการณ์ทางความคิดอย่างลึกซึ้ง รวมถึงได้ลงมือเลือกสรรสิ่งอันเป็นคุณค่าต่อชีวิตเพื่อชีวิต...เราต่างปรารถนาที่จะแสวงหาความล้ำเลิศในทางปัญญาต่อชีวิต ผ่านมโนสำนึกอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถส่งผลต่อการปลูกสร้างจิตวิญญาณแห่งการรับใช้โลกและสังคมแห่งการดำรงชีวิตอยู่...เป็นสถานะอันผูกพันและร้อยเกี่ยวอุดมคติให้เข้ากับทางเลือกนานา เพื่อที่จะย่างก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ...ในห้วงขณะแห่งวารวัยของการเป็นหนุ่มสาวอันทายท้าต่อความหมายของชีวิต และความบริสุทธิ์อันรุ่งโรจน์ของยุคสมัย”
นี่คือความงามแห่งใจที่ได้รับจากสาระอันทรงคุณค่าของหนังสือที่แนบเนาชีวิตอันสูงส่งของคนไทยมานานถึง 47ปี ตีพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องกันมาถึง 17 ครั้ง...นับแต่ปี พ.ศ.2518 นับเนื่องจนถึงปัจจุบัน
“แด่หนุ่มสาว”งานเขียนและเรียบเรียงโดยนักคิดคนสำคัญแห่งโลก ชาวอินเดีย”กฤษณมูรติ”...ผลงานแปลอันล้ำลึกและวิจิตรบรรจง โดยนักแปลผลงานในเชิงจิตวิญญาณผู้เลื่องชื่อของไทย”พจนา จันทรสันติ”...
“ถ้าเราได้เลือก ทางซึ่งเราเดินไปด้วยตนเอง ก็ขอให้แน่ใจได้ว่าทางเลือกนั้น เราได้เลือกอย่างสมศักดิ์ศรีของมนุษย์...จงอย่ากลัวที่จะเลือกเราไม่สามารถที่จะประนีประนอมได้อีกต่อไป เพราะการประนีประนอม จะกลืนกินเราในระยะยาว จงรักษาสติสัมปชัญญะไว้ให้แจ่มใส คิดพิจารณาและตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้ว จงอย่าลังเลที่จะกบฏและท้าทาย จงอย่ากลัว ที่จะตั้งคำถาม ทบทวนทุกสิ่งทุกอย่าง ในระบบสังคมและชีวิตของตนเอง”
คำกล่าวของผู้แปลที่เชื่อมโยงถึงแก่นรากแห่งความคิดโดยรวมของหนังสือเล่มนี้ คือความจริงอันพิศาลต่อการบ่มเพาะใจแห่งอุดมคติเพื่อมอบไว้แก่ตัวตน มันเป็นทั้งการสำรวจและผลักดันใจกลางแห่งแรงขับของชีวิต ให้ล่วงสู่ห้วงขณะแห่งความเข้าใจบริบทแห่งความมีและความเป็นอันแท้จริงของตัวเองอย่างถ่องแท้...
“ความจริงก็คือว่าชีวิตนั้น คล้ายกับสายน้ำ หลั่งไหลไปไม่หยุดยั้ง ค้นหา สำรวจไป ผลักดันไป ท่วมท้นตามริมฝั่งพุ่งผ่านรอยแยกรอยร้าว แต่จิตใจกลับมายอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับมัน จิตใจคิดว่าเป็นอันตรายเกินไป หรือเสี่ยงเกินไปที่จะมีชีวิตอยู่บนความไม่ยั่งยืน ในความไม่มั่นคง ดังนั้น จิตใจจึงสร้างกำแพงขึ้นล้อมรอบตัวเอง สร้างกำแพงประเพณี องค์กร ศาสนา สร้างทฤษฎีทางการเมืองและสังคม ทั้งครอบครัว ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ คุณความดี เล็กๆน้อยๆ ที่เราสั่งสมไว้ ...สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในกำแพงที่เราสร้างขึ้น แยกตัวต่างหากออกจากชีวิต ..ชีวิตคือการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และ ความไม่จีรัง ชีวิตพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง ที่จะเจาะผ่านและทำลายกำแพงลง ...เบื้องหลังกำแพงที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน และ ความน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าเบื้องหลังกำแพงนั้น ล้วนเป็นพระเจ้าเก๊ ข้อเขียนและปรัชญาทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งไร้สาระ ด้วยชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่าสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด...”
ทัศนะอันบาดลึกความรู้สึกนี้ คือผลลัพธ์แห่งจิตใจที่ปราศจากกำแพง...ซึ่งถือได้ว่า มิได้หนักอึ้งด้วยความปรารถนาที่จะครอบครอง ที่จะสั่งสมเพิ่มพูน และ ไม่หลงอยู่แต่เพียงความรู้ภายนอก จิตใจซึ่งดำรงอยู่อย่างไร้กาลเวลา ดำรงอยู่โดยไม่ต้องการความมั่นคง... สำหรับจิตใจเช่นนี้ ชีวิตก็คือสิ่งพิเศษสุด และจิตใจนั้นเองคือชีวิต ด้วยชีวิตนั้นมักสัญจรไปอย่างไร้หลักแหล่ง แต่ส่วนมาก กลับต้องการที่พักอาศัยที่มั่นคง เราต้องการบ้านหลังเล็กๆ ต้องการชื่อ ต้องการตำแหน่ง ต้องการสถานะ แล้วก็พากันพูดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญและจำเป็นมาก เราเรียกร้องความมั่นคงถาวร และก็สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา บนพื้นฐานของความต้องการนั้น เราสร้างพระเจ้าขึ้นมา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ก็หาใช่พระเจ้าไม่ หากเป็นเพียงภาพสะท้อนปรากฏออกมาจากความต้องการของตัวเอง...
ว่ากันว่า..จิตใจที่แสวงหาอยู่แต่ความมั่นคงถาวรนั้น ในไม่ช้าก็จะหยุดนิ่ง เหมือนกับคูเล็กๆข้างแม่น้ำ ในไม่ช้ามันก็จะเต็มไปด้วยความผิดเพี้ยนเสื่อมสลาย มีเพียงจิตใจที่ปราศจากกำแพงที่กั้นขวาง เป็นอิสระ ปราศจากที่เกาะยึด ปราศจากเครื่องกีดขวาง ปราศจากที่พักพิง มีเพียงจิตใจที่อิสรเสรีเพียงนี้เท่านั้น จึงอาจเคลื่อนไหวติดตามชีวิตไปอย่างแนบสนิท มุ่งไปเบื้องหน้าไม่หยุดยั้ง ทำการสำรวจตรวจค้นและแสวงหา มีเพียงจิตใจชนิดนี้เท่านั้นที่จะพบกับความสุข พบกับความสดใสอยู่เสมอ เพราะมันมีพลังแห่งการสร้างสรรค์เต็มเปี่ยมอยู่ในตัวของมันเอง
“เธอเข้าใจในสิ่งที่ฉันพูดหรือไม่ ฉันคิดว่าเธอควรทำความเข้าใจ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่แท้จริง และเมื่อใดที่เธอสามารถเข้าใจมันได้ วิถีชีวิตทั้งหมดของเธอจะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งความสำคัญที่เธอมีต่อโลก ต่อเพื่อนบ้าน ต่อคู่ครอง ก็จะแตกต่างออกไปจากเดิมทั้งหมด และเธอก็จะไม่พยายามค้นหาความเต็มเปี่ยมให้แก่ตนเอง ด้วยการค้นหาความเต็มเปี่ยมนั้น มีแต่จะเพิ่มความทุกข์และความขมขื่นให้ทับถมทวีขึ้น และนี่คือสาเหตุที่เธอจะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ต่อครู และทำการถกเถียงกันในระหว่างเพื่อนๆ และถ้าเธอเข้าใจมัน เธอจะเริ่มเข้าใจสัจธรรมแห่งชีวิต และในความเข้าใจนั้น ก็มีความงามและความรักอันยิ่งใหญ่ มีบุปผาชาติแห่งความดีงามดำรงอยู่ด้วย”
“กฤษณมูรติ” ได้เน้นย้ำให้บรรดาคนหนุ่มสาวให้ได้ใคร่ครวญว่า..เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้ว การที่จะหาความสุขในบั้นปลายแห่งชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อออกจากโรงเรียนไป หนุ่มสาวย่อมพบกับปัญหาหนักๆ นานาประการ ปัญหาสงคราม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคน ปัญหาประชากร ปัญหาศาสนา ปัญหาความขัดแย้งในสังคม นั่นอาจถือเป็นความผิดพลาดของระบบการศึกษา ที่ไม่เตรียมความพร้อมแก่ผู้ศึกษาที่จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์โลกที่เป็นจริงและมีความสุขขึ้น ทั้งๆที่นี่เป็นหน้าที่ของการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียน ซึ่งผู้ศึกษามีโอกาสที่จะแสดงความสามารถในทางสร้างสรรค์ออกมา เพื่อช่วยมิให้นักเรียน ถูกจับยัดอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนมีแต่จะทำให้จิตใจของผู้เรียนผู้ศึกษาคับแคบลง ด้วยการถูกญาณทัศนะและความสุขไว้ภายในขอบเขตจำกัด...ยิ่งสำหรับผู้เตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้อง รู้และรับรู้ถึงปัญหามากมายหลายประการที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยตนเอง การมีปัญญากระจ่างแจ่มใสในโลกที่เผชิญหน้าอยู่ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การมีปัญญาที่กระจ่างชัดได้นั้น มิได้เกิดจากอิทธิพลภายนอก หรือเกิดจากหนังสือใดๆ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อเราต่างรู้ถึงปัญหา และสามารถที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น...มิใช่เพียงในแวดวงของความรู้สึกอันจำกัดเท่านั้น หรือ มิใช่เพียงแค่อเมริกันหรือฮินดู หรือ คอมมิวนิสต์ แต่ในฐานะของมนุษยชนที่สามารถจะแบกรับภาระรับผิดชอบต่อสิ่งที่มีคุณค่า และไม่แสดงออกมาในรูปของอุดมการณ์หรือในรูปแบบของความคิดแบบใดๆ
“การศึกษาควรเป็นการเตรียมทุกคนให้เข้าใจ และสามารถเผชิญกับปัญหาของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียงแค่การให้ความรู้และการฝึกฝนทางเทคนิควิทยาเท่านั้น เพราะเธอคงรู้ว่า ชีวิตนั้นไม่ง่าย เธออาจมีเวลาที่มีความสุข เวลาที่มีการสร้างสรรค์ เวลาที่เธอมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม แต่เมื่อเธออกจากโรงเรียนไปแล้ว จะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นและปิดกั้นเธอไว้ เธอจะถูกจำกัดขอบเขต ไม่เพียงความสัมพันธ์ในระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่จะโดยอิทธิพลทางสังคม จากความกลัวของเธอเอง และจากความทะเยอทะยานในความสำเร็จ
ความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ความทะเยอทะยานเป็นรูปแบบหนึ่ง ของการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นการปิดกั้นตัวเอง และยังทำให้จิตใจคับแคบลงอีกด้วย”
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่”กฤษณมูรติ”ได้สื่อสารให้เราได้คิดตระหนักก็คือว่า...เป็นความชอบธรรมหรือไม่ ที่การศึกษาควรช่วยให้เราได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการขจัดข้อขัดแย้งให้หมดสิ้นไปจากโลก..เราจะร่วมกันสร้างโลกใหม่ โลกซึ่งเราจะไม่มีความขัดแย้งกับใคร แม้แต่กับเพื่อนบ้านหรือคนกลุ่มใด แต่นั่นจะเป็นไปได้อย่างไร...หากแรงปรารถนาในอำนาจ หรือยศถาบรรดาศักดิ์เหล่านั้นยังไม่ได้ถูกขจัดไป โดยสิ้นเชิง
จะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะสร้างสังคมอันปราศจากความทั้งภายในและภายนอกขึ้น หากยังมีความทะยานอยากเช่นนั้นอยู่..เพระสังคมคือระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และหากความสัมพันธ์ระหว่างกัน มีพื้นฐานอยู่บนความมักใหญ่ใฝ่สูง และถ้าแต่ละคน กระหายที่จะมีอำนาจมากกว่าคนอื่น ก็ย่อมแน่นอนว่า...เราจะต้องเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ดั่งนี้ เราจำเป็นต้องขจัดสาเหตุแห่งความขัดแย้งนี้ออกไป เราจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ที่จะไม่แข่งขัน ไม่เปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น ไม่หวังในตำแหน่งหน้าที่อันโน้นอันนี้...อันหมายถึง การไม่เพาะเลี้ยงความทะยานอยากไว้ในใจนั่นเอง
“เมื่อเธอออกจากโรงเรียนไปสู่โลกภายนอก พร้อมกับผู้ปกครอง...เมื่ออ่านหนังสือพิมพ์หรือพูดคุยกับคน เธอจะสังเกตเห็นว่า เกือบทุกคนต้องการเปลี่ยนแปลงโลกที่เป็นอยู่..และถ้าเธอจะลองสังเกตไปอีกก็จะเห็นได้ว่า...คนเหล่านี้เกิดความขัดแย้งในบางเรื่องกับคนใดคนหนึ่งอยู่เสมอ ถ้าไม่ขัดแย้งในเรื่องความคิด ก็ในเรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องเชื้อชาติ เรื่องวรรณะ หรือเรื่องศาสนา ทั้งผู้ปกครอง ทั้งเพื่อนบ้าน เสนาบดี ข้าราชการ คนเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน ล้วนดิ้นรนต่อสู้ เพื่อสถานะที่สูงส่งกว่าเดิม และก็เกิดความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา แน่นอนทีเดียว ด้วยการขจัดการแข่งขันลงโดยสิ้นเชิงเท่านั้น จึงอาจเกิดสังคมซึ่งสงบสุข ที่เราทุกคนอาจอาศัยอยู่อย่างมีความสุขและเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์”
เมื่อเป็นเช่นนี้..เราจะแก้ไขกันอย่างไรดี อาศัยการเปลี่ยนแปลง อาศัยกฎหมาย หรืออาจจะอาศัย การอบรมจิตใจที่แท้จริง และหากเรายังมีความทะยานอยากอยู่ จะมีทางเป็นไปได้ไหม ที่จะขจัดตัวตนแห่งความทะยานอยาก อันเป็นบ่อเกิดแห่งโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติให้หมดไปโดยสิ้นเชิง บางทีเราอาจจะไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้กันมาก่อนเลย เพราะไม่เคยมีใครมาพูดกับเราด้วยเรื่องนี้...
“แด่หนุ่มสาว” ยังคงเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าต่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้อยู่เสมอ มันเป็นนิยามอันสำคัญของชีวิตจากรุ่นต่อรุ่น ผ่านยุคสมัยแห่งการเรียนรู้ของชีวิตต่อชีวิต...ยิ่งในยามที่โลกต่างเต็มไปด้วยอคติและขัดสนด้วยแรงขับเคลื่อนทางปัญญาและจมปลักอยู่กับสมองของผู้คนที่ทั้งไร้ปัญญาและสติดั่งเช่น ณ ขณะนี้...การย่างก้าวไปบนวิถีของการคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งด้วยหัวใจแห่งการแสวงหา.. จึ่งเป็นแก่นหลักแห่งการตระหนักเห็นรูปรอยแห่งชีวิตอันทรงค่า..ในการพังทลายกำแพงแห่งอคติ..แท้จริง
“จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแสวงหาให้ได้ว่า...อะไรคือการสร้างสรรค์ เธอจะสามารถสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อมีการสละละ ซึ่งหมายถึง การปราศจากความสับสน ปราศจากความกลัว ว่าจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด กลัวว่าจะไม่ได้รับ กลัวว่าจะไม่ได้มา...เมื่อมีความรู้จักพอ มีความเรียบง่ายสามัญ แน่นอนว่า ความรักก็ย่อมจะติดตามมา”