เล่าความหลังสยามรัฐ/ทองแถม นาถจำนง: คึกฤทธิ์ ; ภาพสะท้อนจากงานหนังสือพิมพ์ (9) สุกัญญา สุดบรรทัด ภาพของคึกฤทธิ์ที่ปรากฏจากงานของเขาเองในหนังสือพิมพ์นั้น ไม่สามารถจะมองเห็นได้โดยชัดเจนนัก เพราะแม้แต่คึกฤทธิ์ก็ยังกล่าวถึงตัวเองไว้ว่า “ส่วนตัวคึกฤทธิ์เป็นอะไรนั้น ผมบอกไม่ได้หรอก เพราะว่าคนเรามองตัวเองไม่ค่อยออก” คึกฤทธิ์ได้เสนอแนวคิดไว้มากมายในผลงานของเขา ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะงานหนังสือพิมพ์ ผลงานเหล่านั้นชี้ให้เห็นแนวโน้มดังนี้ ภาพแห่งความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ คึกฤทธิ์ แสดงตนว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์อย่างเหนียวแน่น มุ่งหวังจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญภายใต้ระบบกษัตริย์เป็นประมุข เขากล่าวว่า เขาได้รับการอบรมจาบิดามารดาให้คิดถึงเรื่องนี้ คึกฤทธิ์ยังเชื่อมโยงระบอบประชาธิปไตยเข้าด้วยกับพระราชวงศ์ เขาอ้างถึงท่านบิดาผู้เชื่อว่าราชวงศ์จักรีนั้นสนับสนุนประชาธิปไตย ดังนั้น ผู้เป็นพระราชวงศ์จึงต้อสนับสนุนประชาธิปไตยด้วย ถึงผมจะเกิดมาในพระราชวงศ์ แม้ว่าจะหางแถวอย่างไรก็ตาม ก็ได้รับการอบรมจากบิดามารดาให้คิดถึงราชการพระเจ้าอยู่หัวเป็นใหญ่คอยอบรมให้รับราชการแต่อย่างเดียว “พ่อผมท่านเคยบอกผมตั้งแต่เมื่อผมเดินทางกลับจากอังกฤษว่าใครที่เป็นพระราชวงศ์แล้วจะต้องพยายามรักษาระบบประชาธิปไตยไว้ให้ได้ เพราะการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการกระทำตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คนที่เป็นพระราชวงศ์นั้น จะไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ถือว่ามีความผิดอย่างหนัก นี้เป็นความเห็นของบิดาผมเพียงคนเดียว” แนวความคิดเชิงกษัตริย์นิยมของคึกฤทธิ์ ปรากฏในนิพนธ์ของเขาหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะย่างยิ่ง เรื่อง “สี่แผ่นดิน” ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งวิทยากรกล่าวว่า “ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ สามารถสร้างงานชิ้นนี้เพื่อเผยแพร่แนวคิดและอุดมการณ์เชิดชูประเพณีนิยม และกษัตริย์นิยม ตอบโต้กับความคิดก้าวหน้าแบบฝ่ายซ้ายที่กำลังแพร่ระบาดในปี 2494 – 2495 อย่างประสบความสำเร็จมาก” นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สืบเนื่องมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 เป็นช่วงที่แผ่นดินตกอยู่ในภายใต้ความสับสนอลหม่านอันเนื่องจากความต่างทางความคิด การแย่งชิงอำนาจกันในคณะผู้ปกครอง คึกฤทธิ์ได้ทำงานหนักมากเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่กระจายเข้ามาในภูมิภาคแถบนี้ และรัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ ได้มีการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์กลุ่ม “ก้าวหน้า” บุคคล “หัวก้าวหน้า” บางคน ได้พยายามเชื่อมโยงการรีดนาทาเร้นของเจ้านายและขุนนางในยุโรปในระบบฟิวดัลลิสม์ เข้ากับระบบศักดินาของไทย ซึ่งคึกฤทธิ์เห็นว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เขาปฏิเสธข้อสมมติฐานดังกล่าวนี้โดยสิ้นเชิง การหักล้างเหตุผลกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ เข้ากันได้ดีกับเจตจำนงของรัฐบาลในขณะนั้นน่าจะเป็น “ความดี” อย่างหนึ่งของรัฐบาลในขณะนั้นตระหนักได้ แม้ว่าคึกฤทธิ์จะได้ทำอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่รัฐบาลไม่ชอบใจ คึกฤทธิ์ทำงานปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างทรงพลังและทำอย่างยาวนานและต่อเนื่อง กุศลเจตนาดังกล่าวก็น่าจะเป็นมูลเหตุอีกประการหนึ่งที่ป้องกันภัยพิบัติแก่เขา ทั้งทางตรงและทางอ้อม บทความในหนังสือพิมพ์ เรื่อง “ฝรั่งศักดินา” ซึ่งพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในสยามรัฐ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2500 ถึงกลางเดือนมกราคม 2501 สะท้อนภาพอันสูงส่งของสถาบันกษัตริย์ไทย โดยคึกฤทธิ์เน้นให้เห็นว่า ระบบศักดินาไทยแต่ดั้งเดิม นั้นแตกต่างจากระบบฟิวดัลลิสม์ของยุโรปอย่างสิ้นเชิง ชนิดไม่มีอะไรเหมือนกัน และไม่มีอะไรเกี่ยวกันเลย และว่าความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมดั้งเดิมนั้นมีพื้นฐานอยู่ที่ระบบอุปถัมภ์กันมากกว่าที่จะอยู่ระบบชนชั้น ซึ่งมีนัยในทำนองที่ว่ากษัตริย์ไทยได้กินแรงประชาชนมากเหมือนกับเจ้าขุนมูลนายในระบบยุโรป