โดยไทยพบผู้ติดเชื้อเข้าข่าย BA.2.2 คล้ายฮ่องกง 4 ราย รอยืนยัน โดยขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะ BA 2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีน ขณะที่การเฝ้าระวังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 5-11 มี.ค.2565 พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเกือบ 100% แล้ว และตรวจพบสายพันธุ์ย่อย BA.1 คิดเป็น 32.4 % และBA.2 คิดเป็น 67.6 % โดยพบBA.2ในทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
14 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประเด็น การจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ของเชื้อว่า การเฝ้าระวังในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 5-11 มี.ค.2565 พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 99.69 % และสายพันธุ์เดลตาประปราย 0.31 % เมื่อตรวจสอบสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน พบเป็น BA.1 คิดเป็น 32.4 % และBA.2 คิดเป็น 67.6 % โดยพบBA.2ในทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศในสัดส่วนเกิน 50 % ยกเว้นเขตสุขภาพที่1(ภาคเหนือตอนบน) และ 11 (ภาคใต้ตอนบน) ที่สัดส่วนยังไม่ถึงครึ่ง
ในขณะที่ฐานข้อมูล GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลเชื้อก่อโรคโควิด-19ของโลก พบว่า โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก ส่วนBA.2 ขณะนี้มีรายงานสายพันธุ์ย่อยแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ BA.2.1 จำนวน 532 ราย, BA.2.2 จำนวน 68 ราย และBA.2.3 จำนวน 1,938 ราย ซึ่งจะเห็นว่าBA.2.1 และBA.2.3 มีการรายงานเข้าไปจำนวนมากกว่า BA.2.2แต่ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบวิเคราะห์ของGISAID ว่าจะกำหนดชื่อให้ใช้ตามนี้หรือไม่ คาดว่าอีก 2-3 วันอาจจะมีความชัดเจน
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับโอไมครอน สายพันธุ์ย่อยBA.2.2 ที่มีการกลายพันธ์ที่ตำแหน่งสไปก์โปรตีน I1221T โดยพบหลักๆในฮ่องกง 386 ราย และอังกฤษ 289 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่มาจากคนละสาย จำเป็นจะต้องมีการต้องติดตามต่อไป แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นในฮ่องกง ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเป็นเพราะโอไมครอนBA.2.2 ซึ่งยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ทำให้เพิ่มพยาธิสภาพในการทดสอบทางห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลอง และอะไรที่จะอธิบายว่าทำลายอวัยวะของร่างกาย นอกจากนี้ จากการติดตามสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่ระบาดใหญ่ที่ผ่านมาทั้งอัลฟา เดลตา และโอไมครอน ยังไม่มีสายพันธุ์ย่อยที่มีความน่ากังวลเป็นพิเศษมากไปกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวลหลัก แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยประเมินโอกาสในการแพร่ะกระจายของสายพันธุ์ใหม่ได้ และสายพันธุ์ย่อยBA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล
สำหรับในประเทศไทยนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการสุ่มตัวอย่างและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวส่งเข้าระบบGISAID สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่างที่ผ่านมานั้น พบว่า มี 4 รายที่มีโอกาสเป็นโอไมครอนBA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย ทั้งหมดอาการสบายดีและบางรายอาจจะหายแล้วด้วย โดยหาก GISAIDกำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการแล้ว ไทยก็จะสามารถยืนยันสายพันธุ์ทางการของทั้ง 4 รายที่เข้าข่ายนี้ด้วย ทั้งนี้ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะ BA 2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีน อีกทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เฝ้าระวังทุกสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค COVID-19 ทั้งวิธีตรวจเฉพาะจุดกลายพันธุ์ และตรวจลำดับเบสทั้งตัว

