จุดเริ่มต้นของการสหกรณ์ไทย เกิดจากสภาพปัญหาความยากจนของชาวนาช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจชนบทค่อยๆ เปลี่ยนจากเลี้ยงตัวเอง มาเป็นระบบเพื่อการค้า ชาวนาที่ไม่มีทุนของตนเองต้องหันไปพึ่งพากู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง และยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าและนายทุน จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา หนำซ้ำยังมีหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือ ด้วยการจัดหาแหล่งทุนให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ และสรุปมี 2 วิธีที่จะช่วยเหลือชาวนาในขณะนั้น คือจัดตั้งธนาคารเกษตรและวิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน วิธีแรกตกไป เพราะติดขัดปัญหาเรื่องเงินทุนและหลักประกันเงินกู้ จึงเห็นชอบ วิธีที่ 2 วิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ทรงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459
“สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” ที่จัดตั้งขึ้นนี้เป็นสหกรณ์ขนาดเล็กในระดับหมู่บ้าน ตั้งขึ้นในหมู่เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำและมีหนี้สินมาก จำนวนสมาชิกแรกตั้ง 16 คนทุนดำเนินงาน 3,080 บาท แบ่งเป็นทุนจากการกู้ยืมแบงค์สยามกัมมาจล จำนวน 3,000 บาท และเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า จำนวน 80 บาท จากนั้นการสหกรณ์ได้แพร่ขยายไปในวงกว้าง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของขบวนการสหกรณ์และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัยจนปัจจุบัน เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศสืบมาจนบัดนี้ นับเป็นเวลา 106 ปี แล้ว และด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงมีคุณูปการต่อระบบสหกรณ์ไทย ส่งผลให้เกษตรกรและสมาชิกพ้นจากภาวะหนี้สิน มีทุนในการประกอบอาชีพ จึงทรงได้รับการยกย่องจากขบวนการสหกรณ์ไทยว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย" และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” หน่วยงานภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ไทยได้ร่วมกันจัดงาน “วันสหกรณ์แห่งชาติ” ขึ้นเป็นประจำทุกปี
“สหกรณ์” นั้นอยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ดังนั้นกลไกของความสำเร็จของสหกรณ์มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย ตัวสมาชิกของสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องร่วมมือประสานการดำเนินกิจการสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยดี ภายใต้ธรรมาภิบาล โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะนายทะเบียน ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานกิจการของสหกรณ์ในเรื่องต่าง ๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน แต่ละส่วนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรบ้าง สมาชิกต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสหกรณ์ คณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกจากสมาชิกก็ต้องดูแลทรัพย์สิน ดูแลสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหัวจิตหัวใจในการให้บริการ ดูแลให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนสหกรณ์ ต้องไม่ให้ได้รับความเสียหาย
สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด จังหวัดตรัง สหกรณ์ระดับอำเภอ ที่ดำเนินงานภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการผู้ซึ่งมีอุดมการณ์สหกรณ์ สมาชิกมีความรักความศรัทธาในระบบสหกรณ์ รู้จักหน้าที่ ในการใช้สิทธิของตน มีจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้บริการกับสหกรณ์ มีวินัยและสหกรณ์ยังมีเจ้าหน้าที่มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบเต็มใจในการให้บริการกับสมาชิก
สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2514 โดยการควบสหกรณ์หาทุนเดิม 10 สหกรณ์ มีสมาชิกแรกตั้ง 129 คน จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 เริ่มดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน สหกรณ์ฯได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับ ถึงแม้บางครั้งจะมีภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ไม่มีผลกระทบในทางลบกับสหกรณ์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความร่วมมือ ร่วมใจ ของสมาชิก คณะกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจสอบกิจการ ฝ่ายจัดการ ที่ปรึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผลการดำเนินงานสหกรณ์ฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีสมาชิก 5,456 คน ทุนดำเนินงาน 1,338 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่สมาชิก 655.64 ล้านบาท จัดหาสินค้ามาจำหน่าย (ปุ๋ย,วัสดุการเกษตร,น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น,ก๊าซ LPG,สินค้าร้านสะดวกซื้อ,สินค้าทั่วไป) 429.74 ล้านบาท ธุรกิจรวบรวมผลผลิตยางพารา (ยางแผ่นรมควัน,แผ่นดิบ,รมควันอัดก้อน,น้ำยางสด) 397.68 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ อาทิเช่น ธุรกิจส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมาชิก,ค่าเช่าตลาดกลางและโกดังเพื่อเก็บปุ๋ยและอาหารสัตว์,ตัวแทนบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาด อาทิ โกดังรวบรวมและเก็บยาง ขนาด 2,160 ตารางเมตร โกดังเก็บยางแปรรูป ขนาด 2,400 ตารางเมตร เครื่องชั่งพร้อมห้องควบคุม ขนาด 80 ตัน รถเทเลอร์พร้อมหัวลาก ขนาด 344 แรงม้า รถโฟล์คลิฟต์แบบล้อหน้าคู่ยางตัน ขนาด 3.5 ตัน จำนวน 2 คัน รถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ ขนาดไม่น้อยกว่า 95 แรงม้า จำนวน 1 คัน เครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง ขนาดไม่น้อยกว่า 1.4 แรงม้า จำนวน 10 เครื่อง เพื่อให้สหกรณ์ฯ นำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและบริการให้กับสมาชิกสหกรณ์ สหกรณ์มีรายได้รวมทั้งสิ้น 975.38 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 956.02 ล้านบาท สหกรณ์มีกำไรสุทธิ 19.36 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรตามที่ข้อบังคับกำหนด คิดเป็นร้อยละ 2.03 ของยอดขาย/บริการ กำไรเฉลี่ยต่อสมาชิก 3,599.39 บาท มีเงินออมต่อสมาชิก 193,377.75 บาท และมีหนี้สินต่อสมาชิก 136,234.18 บาท สัดส่วนเงินออมเฉลี่ยต่อสมาชิกมากกว่าหนี้สินเฉลี่ยต่อสมาชิก จัดสรรเงินปันผลและเฉลี่ยคืนให้สมาชิก 79.07%
สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ และเปิดร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร นำผลผลิตทางการเกษตร ผักสด ผลไม้สด และสินค้าเกษตรปลอดภัย นำมาจำหน่ายบริเวณหน้าร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โดยเปิดตลาดนัดทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 06.30 น. มีสมาชิกร่วมโครงการนำร่อง 20 ครอบครัว มีพืชผักมากกว่า 200 ชนิด ยอดขายมากกว่า 361,000 บาท ทำให้สมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น
และในปี 2565 สหกรณ์ฯมีแผนงานที่จะขยายสู่สมาชิกเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งโครงการกระจายพืชพันธุ์ดีสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ (สะตอพันธุ์ตรัง 1) โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร โครงการเกษตรทำมือและรวมกลุ่มเพาะปลูกอาชีพเสริมเพื่อขับเคลื่อนโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โครงการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสหกรณ์เพื่อขับเคลื่อนโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โครงการตลาดนัดสินค้าเกษตรทำมือตามโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ และโครงการช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิด อาทิ การช่วยเหลือด้านหนี้สินแก่สมาชิก โดยลดอัตราดอกเบี้ยและยกเว้นค่าปรับ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินแก่สมาชิก การปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่สมาชิก การงดเว้นการถือหุ้นตามส่วนแห่งเงินกู้ และการให้เงินกู้ระยะสั้นและระยะปานกลางอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น สามารถทำให้สหกรณ์เป็นที่พึงพอใจของสมาชิก สหกรณ์มีความเจริญก้าวหน้า เจ้าของเป็นทั้งผู้บริหาร ผู้ใช้บริการ ผู้รับประโยชน์ เป็นที่พึ่งพาของสมาชิกสหกรณ์ตลอดไป