ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ยโสธร พร้อมผลักดันสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ อย่างยั่งยืน
วันที่ 12 มี.ค.65 นายชาย คงแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 13,14 ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติราชการในเขตพื้นที่ิ 13 จังหวัดยโสธร โดยมีนายประภาส สังข์ขาว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ และข้าราชการร่วม ให้การต้อนรับ และได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามงาน ณ กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร เพื่อแนะนำและส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร
กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ มีสมาชิกทั้งหมด 922 ราย มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 6,803,444.05 บาท กลุ่มเกษตรกรมีการดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน 1.ธุรกิจรวบรวมผลิตผล (ข้าวอินทรีย์) 2.ธุรกิจแปรรูปผลิตผลการเกษตรและการผลิตสินค้า ซึ่งประกอบด้วย แปรรูปข้าวอินทรีย์ แปรรูปน้ำมันรำข้าว 3.ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย กลุ่มเกษตรกรมีการส่งเสริมให้สมาชิกทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ EU มีพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น 2,500 ไร่ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรทำหน้าที่เป็นตลาดกลางรับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์คืนจากสมาชิก และนำผลิตผลที่ได้จากสมาชิกมาแปรรูปเป็นข้าวสาร จำหน่ายให้เครือข่ายสหกรณ์ และลูกค้าทั่วไป ประกอบด้วย
1.ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท
2.ข้าวกล้องหอมมะลิ ราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท
3.ข้าวหอมมะลิแดง ราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท
4.ข้าวไรซ์เบอรี่ราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท
นอกจากการแปรรูปข้าวเปลือกอินทรีย์จะให้ผลิตภัณฑ์หลัก คือ “ข้าวสาร” ที่พร้อมไปสู่ขบวนการบรรจุหีบห่อเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มแล้ว ผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าวเปลือกอินทรีย์อีกอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ นั่นคือ “รำอ่อน” ซึ่งกลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือได้นำรำอ่อน ไปแปรรูปโดยสกัดเป็นน้ำมันรำข้าว ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ และจำหน่ายน้ำมันรำข้าวให้กับสหกรณ์ผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ จำกัด เพื่อนำไปเข้าสู่ขบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างขบวนการสหกรณ์เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือยังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูป
สำหรับผลิตผลที่ได้จากการนำรำอ่อนมาสกัดเป็นน้ำมันรำข้าว ประกอบด้วย
1.น้ำมันรำข้าวดิบ ราคาขาย กิโลกรัมละ 1,000 บาท
2.น้ำมันรำข้าวอัดเม็ดแคปซูล บรรจุ 50 เม็ด ราคาขายกระปุกละ 250 บาท
3.น้ำมันรำข้าวบรรจุขวด ขนาด 100 cc. ราคาขายขวดละ 120 บาท
กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือดำเนินธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้กับสมาชิก โดยจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์อินทรีย์ มาจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาที่เป็นธรรม แต่ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มเกษตรกรจะส่งเสริมให้สมาชิกทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเก็บเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ไว้ใช้สำหรับฤดูกาลต่อไป
นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังได้มีการส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เสริม โดยการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชหลังนา เช่น ปลูกหอมแดง กระเทียม พริก ข่า ตระไคร้ เป็นต้น ซึ่งเป็นการต่อยอดจากพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในรอบปีที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรสามารถรวบรวมผลผลิตพืชหลังนาจากสมาชิกนำร่องและกระจายผลิตผลของสมาชิกสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นมูลค่า 230,000 บาท ซึ่งทำให้สมาชิกมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรรับซื้อผลผลิตคืนจากสมาชิกในราคาที่เป็นธรรม และกระจายผลผลิตให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่แปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยส่งมอบสินค้า 500–1,000 กิโลกรัม ต่อครั้ง ซึ่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับพืชหลังนาอินทรีย์ชนิดต่างๆ ของสมาชิกสามารถส่งขายในตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย
1.หอมแดง ราคาขายกิโลกรัมละ 100 บาท
2.กระเทียมราคขายกิโลกรัมละ 220 บาท
3.พริกสดราคขายกิโลกรัมละ 100 บาท
4.พริกแห้ง ราคขายกิโลกรัมละ 380 บาท
5.ใบมะกรูดสดราคขายกิโลกรัมละ 90 บาท
6.ใบมะกรูดแห้งราคขายกิโลกรัมละ 380 บาท
7.ข่า ตะไคร้ราคขายกิโลกรัมละ 70 บาท
จากการลงตรวจเยี่ยมของผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ติดตามการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรและได้แนะนำวิธีการบริหารจัดการธุรกิจของกลุ่มเกษตรกร อาทิเช่น การบริหารจัดการน้ำหนักสูญหายของผลิตผลทางการเกษตรที่รวบรวมจากสมาชิกเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตสินค้าของกลุ่มเกษตรกร แนะนำการใช้อุปกรณ์การตลาดที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับธุรกิจ พร้อมทั้งแนะนำการเพิ่มช่องทางการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร และที่สำคัญการมุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรสมาชิก ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชหลังนาอินทรีย์ของสมาชิกเพิ่มมากขึ้นโดยสมาชิกจะต้องมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้มีสินค้าทันต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงแนวทางการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน สามารถเป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกและสามารถนำหลักการณ์ อุดมการณ์ และวิธีการลงไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง
ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการหลายด้าน เช่น ด้านแหล่งเงินทุน ด้านอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เช่น เครื่องสกัดน้ำมันรำข้าว เครื่องคัดแยกหินสำหรับแปรรูปข้าวอินทรีย์ ด้านการผลิตพืชหลังนาอินทรีย์ที่ไม่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากปัญหาด้านโรคพืช แมลง และสมาชิกยังขาดการวางแผนการผลิต ซึ่งทางผู้ตรวจราชการกรม ได้แนะนำและประสานให้ กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 2 และกลุ่มงานวิชาการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร วิเคราะห์ศักยภาพการดำเนินธุรกิจแต่ละด้านของกลุ่มเกษตรกรและจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนงานประจำปี และผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้มีทางคณะกรรมการดำเนินการกลุ่มเกษตรกร และฝ่ายจัดการของกลุ่มเกษตรกร ร่วมให้การต้อนรับและรับมอบนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป



